posttoday

ส่งออกรายเล็กอ่วม!จำนำข้าวพ่นพิษ

29 กรกฎาคม 2555

ธนาคารห่วงผู้ส่งออกข้าวรายเล็กเจ๊งจากโครงการรับจำนำข้าว เข้าดูแลผู้ส่งออกเป็นรายๆ ให้สินเชื่อตามคำสั่งซื้อ

ธนาคารห่วงผู้ส่งออกข้าวรายเล็กเจ๊งจากโครงการรับจำนำข้าว เข้าดูแลผู้ส่งออกเป็นรายๆ ให้สินเชื่อตามคำสั่งซื้อ

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้น่าเป็นห่วงว่าผู้ส่งออกข้าวบางรายอาจต้องเลิกกิจการส่งออกข้าว เพื่อหันมาประกอบธุรกิจอื่นแทน เนื่องจากไม่มีข้าวให้ส่งออก เป็นผลมาจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้ข้าวอยู่ในมือของรัฐบาลแทบทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อผู้ส่งออกไม่มีข้าวส่งออก ไทยจึงเสียแชมป์การส่งออกข้าวให้กับอินเดียและเวียดนาม แม้จะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ก็จะเกิดปัญหากำไรจากการขายข้าวลดลงได้รายได้เข้ามาน้อยลง เพราะแข่งเรื่องราคาไม่ได้

ปัจจุบันหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของกลุ่มผู้ส่งออกข้าวยังไม่น่ากังวล เพราะการให้สินเชื่อผู้ส่งออกข้าวเป็นรูปแบบแพ็กกิงเครดิต คือให้วงเงินตามคำสั่งซื้อ ลูกค้าจึงไม่สามารถนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แต่ก็ยอมรับว่าผู้ส่งออกข้าวจะขอวงเงินแพ็กกิงเครดิตน้อยลง เพราะไม่มีคำสั่งซื้อ

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ส่งออกข้าวที่สายป่านยาวมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล จะได้เข้าประมูลลับกับรัฐบาล และได้ข้าวออกมาขาย ซึ่งการประมูลลับจะไม่มีการบอกล่วงหน้า จึงมีแต่ผู้ส่งออก รายใหญ่เท่านั้นที่จะประมูลได้ เพราะมีเงินทุนมากกว่า ทำให้ผู้ส่งออกรายเล็กที่สายป่านสั้นนอกจากจะเข้าไม่ถึง ก็สู้รายใหญ่ไม่ได้ ผู้ส่งออกรายเล็กอาจต้องกินน้ำใต้ศอก ซื้อข้าวต่อจากรายใหญ่ที่ประมูลได้

"น่าเป็นห่วงว่าผู้ส่งออกข้าวรายเล็กและไม่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาล เพราะรูปแบบการเปิดประมูลข้าวมี 4 วิธีคือ ขายในประเทศ ขายรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เปิดประมูลตามปกติ และเปิดประมูลลับ ซึ่งกรณีการเปิดประมูลลับเป็นเรื่องที่จะมีปัญหามากที่สุด เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง"รายงานข่าวระบุ

นอกจากนี้ ผลที่เกิดอีกด้านคือ ผู้บริโภคจะต้องซื้อข้าวในราคาแพงขึ้นจากเดิม แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะควบคุมราคาข้าว แต่ต่อไปอาจเกิดปัญหาเหมือนน้ำมันปาล์มที่ขาดตลาดและมีการจำกัดจำนวนขายปลีก เมื่อรัฐบาลควบคุมราคาข้าว เพราะเป็นสินค้าควบคุม ก็ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มแตกแบรนด์และผสมข้าวขาย ผู้บริโภคจึงได้รับประทานข้าวในคุณภาพตามราคา แต่ไม่มีใครสังเกต

นายประสิทธิ์ วสุภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มีการดูแลผู้ส่งออกข้าวเป็นรายๆ อยู่แล้ว แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการยังมีความแข็งแรง เพียงแต่การส่งออกที่น้อยลงมีผลทำให้สินเชื่อแพ็กกิงเครดิตน้อยลงไปด้วย ซึ่งปัจจุบันการให้วงเงินแพ็กกิงเครดิตอยู่ที่ 70-80% ของคำสั่งซื้อ
อย่างไรก็ดี ที่เป็นห่วงคือ เมื่อรัฐบาลใช้วิธีการรับจำนำข้าว ราคาข้าวของไทยก็จะสูงกว่าคู่แข่ง กระทบผู้ส่งออกข้าวโดยรวม ปริมาณการส่งออกก็ลดลง ขณะนี้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลง 35%