posttoday

ทรูเมินทำสัญญา 3 จีใหม่

27 กรกฎาคม 2555

ทรูเมินทำสัญญา 3 จี ฉบับใหม่กับ กสทฯ ยืนยันปรับแก้ฉบับเก่าตามมติกสทช. 6 ประเด็น

ทรูเมินทำสัญญา 3 จี ฉบับใหม่กับ กสทฯ ยืนยันปรับแก้ฉบับเก่าตามมติกสทช.  6 ประเด็น

รายงานข่าวจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ทรูไม่เห็นด้วยกับการทำสัญญาฉบับใหม่เพื่อให้บริการ 3 จี ภายใต้แบรนด์ ทรูมูฟเอช หลังจากที่คณะกรรมการ หรือ บอร์ด บริษัท กสท โทรคมนาคม มีมติเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ล้มเลิกสัญญาฉบับเก่าเพื่อทำฉบับใหม่ให้ถูกต้อง

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา กสทฯ ไม่เคยหารือกับทรูในเรื่องนี้แต่อย่างใด  และทรูเห็นว่า สัญญาที่ได้ตกลงร่วมกันมานั้นได้ดำเนินการผ่านกระบวนการต่างๆ อย่างถูกต้อง และผ่านการตรวจสอบจากหลายหน่วยงานอย่างครบถ้วนแล้ว ดังนั้น จึงขอปรับแก้ใน 6 ประเด็นตามมติของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เท่านั้น

สำหรับ 6 ประเด็นที่ กทค.มีมติให้แก้สัญญา คือ 1.กสทฯ ต้องสามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 800  เมกะเฮิร์ตซ ไปใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของกสทฯ หรือของบริษัทอื่นได้ 2. กสทฯ ต้องควบคุมดูแลและบริหารจัดการ หรือ เน็ตเวิร์ก โอปอเรเตอร์ เซ็นเตอร์ อย่างสมบูรณ์

3. ข้อมูลการใช้งาน ต้องอยู่ในความครอบครองของ กสทฯ 4. อำนาจของคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงานตามสัญญาต้องมีความชัดเจน โดยแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของ กสทฯ  5. กระบวนการสร้างและจัดหาความจุของ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จะต้องแสดงให้เห็นว่า กสทฯ เป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินใจในเรื่องแผนคลื่นความถี่ แผนการขยายโครงข่าย และการปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้  กสทฯ ต้องเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการเจรจาการให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ และการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้ประกอบการรายอื่น

นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ กล่าวว่า แนวทางการทำสัญญาฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดเรียบร้อยแล้ว เพราะสัญญาเดิมไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. ดังนั้น การทำสัญญาใหม่จะทำให้ กสทฯ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ขัดต่อกฏหมายต่างๆ รวมทั้งสร้างมาตรฐานที่ดีสำหรับผู้ให้บริการรายอื่นที่จะเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจ 3จี กับ กสทฯ ในอนาคตด้วย โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบกับลูกค้าทรูมูฟเอชที่ใช้บริการอยู่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ใช้บริการทรูมูฟเดิม  ขณะนี้ทางทรูได้เปลี่ยนเข้าสู่ระบบทรูมูฟเอชโดยอัตโนมัติทั้งที่ดำเนินการผ่านบริการคงสิทธิเลขหมาย หรือ นัมเบอร์พอร์ทิบิลิตี้ และที่ไม่ได้ผ่านระบบนัมเบอร์พอร์ท ถือเป็นวิธีการถ่ายโอนลูกค้าไปยังระบบใหม่ ส่งผลให้ รายได้กสทฯ จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากทรูมูฟน้อยลง และได้รับเพียงค่าเช่าโครงข่ายจากทรูมูฟเอชเท่านั้น