posttoday

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯมิย.ลดเหลือ102.7

19 กรกฎาคม 2555

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเหลือ 102.7 จาก 106 ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ส่งออกลดลงต่ำกว่า 100 เหลือ 94.3 หลังวิกฤตยุโรปกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเหลือ 102.7 จาก 106 ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ส่งออกลดลงต่ำกว่า 100 เหลือ 94.3 หลังวิกฤตยุโรปกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการไทย

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯมิย.ลดเหลือ102.7 ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยประจำเดือนมิ.ย. 2555 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 102.7 ลดลงจากระดับ 106 ในเดือนพ.ค. เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และภัยธรรมชาติ ขณะเดียวกันวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังยุโรปด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.8 ลดลงจากระดับ 111.1 ในเดือนพ.ค.เพราะผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าดัชนียอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการลดลง

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกตั้งแต่ 50% หรือเน้นการส่งออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 94.3 ลดลงจากระดับ 102.4 ในเดือนพ.ค. โดยเป็นค่าดัชนีที่ลดลงต่ำกว่า 100 เพราะความผันผวนในตลาดส่งออกเริ่มมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ซึ่งอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนก็ปรับลดลงเช่นเดียวกันจาก 106.1 มาอยู่ที่ 97.3 ในเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ หากจำแนกเป็นรายภูมิภาค พบว่า ทุกภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงทั้งหมด เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อ การขาดแคลนแรงงาน และปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

สำหรับสภาพแวดลอมในการดำเนินกิจการ ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นเศรษฐกิจโลกมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมือง อัตราแลกเปลี่ยน รทคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ได้แก่ ต้องการให้รัฐผลักดันการส่งออกินค้าไปยังตลาดใหม่ เช่น อินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนตลาดยุโรป เพิ่มสภาพทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ และมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นต้น

นายศุภรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มค่าดัชนีน่าจะปรับตัวลดลงไปอีก และมีโอกาสที่จะต่ำกว่า 100 ได้ เพราะผู้ประกอบการค่อนข้างกังวลเรื่องผลกระทบจากวิกฤตยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี เครื่องหนัง เพราะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่วนหนึ่งได้ประโยชน์ต่อผู้ส่งออกสินค้า แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ในกลุ่มผู้ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ ประกอบกับตลาดต่างประเทศยังชะลอตัวลง ทำให้สถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าไม่ได้เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการเท่าที่ควร