posttoday

ผอ.ซิป้าเผยเร่งปรับทัพซอฟต์แวร์ไทย

18 กรกฎาคม 2555

ผอ.ซิป้าคนใหม่เร่งปรับทัพซอฟต์แวร์ไทย ชิงส่วนแบ่งตลาดเออีซี ขอภาครัฐช่วยสนับสนุนทุกรูปแบบ

ผอ.ซิป้าคนใหม่เร่งปรับทัพซอฟต์แวร์ไทย ชิงส่วนแบ่งตลาดเออีซี ขอภาครัฐช่วยสนับสนุนทุกรูปแบบ

นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานหลังเข้ารับตำแหน่งผอ.ซิป้าตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา จะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้สามารถรองรับการแข่งขันในระดับอาเซียนที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจ หรือ เออีซี ในปี 2558 

ทั้งนี้ ไม่ได้ต้องการแข่งขันในตลาดที่มีผู้พัฒนาอยู่แล้ว เช่น ประเทศเวียดนามตั้งเป้าสร้างนักพัฒนา หรือ โปรแกรมเมอร์ 1 ล้านคน แต่ซิป้าจะเน้นพัฒนาบุคลากรในระดับมืออาชีพ โดยใช้จุดแข็งในเรื่องของอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน เช่น ท่องเที่ยว  ที่มีศักยภาพค่อนข้างสูง 

“จะเน้นการพัฒนาศักยภาพในระดับหัวสมอง และการใช้ทรัพยากรในอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด  คือ ในส่วนโปรแกรมเมอร์ที่มีบางประเทศถนัดอยู่แล้ว ก็ใช้ประโยชน์จากตรงนั้น ไทยต้องพัฒนาในส่วนที่ตลาดยังไม่มี และจะเลิกสร้างภาพลักษณ์ว่าซอฟต์แวร์ไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ต้องหยิบจุดเด่นที่แข็งแรงมาใชให้ตรงกับตลาด” นายไตรรัตน์กล่าว 

นอกจากนี้ การที่ซอฟต์แวร์ไทยจะแข็งแรงและมีความพร้อมต่อเออีซีได้นั้น ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ซึ่งซิป้าตั้งเป้าได้รับงบประมาณปี 2556 อยู่ที่ 300 ล้านบาท รวมทั้งมีแผนในระยะยาวว่าจะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ด้วย

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า จะประสานงานกับทางสถาบันการศึกษาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนในมหาวิทยาลัย ให้รองรับกับเออีซีมากขึ้น คือ เน้นการเรียนการสอนที่พัฒนาบุคลากรให้ตอบความต้องการของตลาดได้จริง  รวมไปถึงการสร้างสถาบันพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ  ซิป้า อะคาเดมี  เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเกิดการพัฒนาร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์

สำหรับ นายไตรรัตน์ถือเป็นบุคลากรที่คร่ำหวอดในวงการซอฟต์แวร์มาตลอด 30 ปี  เริ่มงานในธุรกิจไอทีที่บริษัทไอบีเอ็มเมื่อปี 2525 และเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งซิป้าครั้งแรกเมื่อ 9 ปีที่แล้วด้วย

ปัจจุบันมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อยู่ที่ประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่ายังน้อยมากหากเทียบกับมูลค่ารวมตลาดไอซีทีทั้งหมดเกือบ 6 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่