posttoday

เผยดัชนีคอร์รัปชันไทยแนวโน้มรุนแรงขึ้น

17 กรกฎาคม 2555

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีคอร์รัปชันไทยมิ.ย.แย่ลง นักธุรกิจยังจ่ายใต้โต๊ะ ชี้แนวโน้มปีหน้า จะรุนแรงกว่าปีนี้

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีคอร์รัปชันไทยมิ.ย.แย่ลง นักธุรกิจยังจ่ายใต้โต๊ะ ชี้แนวโน้มปีหน้า จะรุนแรงกว่าปีนี้

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย(Thai Corruption Situation Index:CSI) ซึ่งสำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ ประชาชน ผู้ประกอบการ และข้าราชการ/ภาครัฐ 2,400 ตัวอย่าง ในเดือน มิ.ย.55 พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยโดยรวมอยู่ที่ 3.5 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน(0 คะแนนหมายถึงรุนแรงมากที่สุด, 10 คะแนนหมายถึงไม่มีการคอร์รัปชันเลย) ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือน ธ.ค.54 ที่ 3.6 ส่วนดัชนีสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ที่ 3.2 ลดลงจาก 3.3 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์อยู่ที่ 3.7 ลดลงจาก 3.9

สำหรับความเสียหายของการทุจริตคอร์รัปชันเมื่อประเมินจากงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ประเภทจัดซื้อจัดจ้างค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานราชการ และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ พบว่า อัตราการจ่ายเงินพิเศษที่ 30-35% ของงบรายจ่ายฯและงบลงทุนฯนั้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 252,043-294,050.1 ล้านบาท จากงบรายจ่ายฯและงบลงทุนรวมในปี 55 ที่ 840,143.2 ล้านบาท มีผลกระทบต่อจีดีพี 2.18-2.54% ส่วนในปี 56 จะเพิ่มขึ้นเป็น 282,782.4-329,912.8 ล้านบาท จากงบรวมที่ 942,608 ล้านบาท มีผลกระทบต่อจีดีพี 2.25-2.63%

"การสำรวจสะท้อนสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยรุนแรงมากขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนจาก 2 ปัจจัยคือ เม็ดเงินที่นักธุรกิจต้องจ่ายพิเศษเพื่อให้ได้งานเพิ่มสูงขึ้นมาก และงบประมาณของภาครัฐในปีนี้ที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน และมีแนวโน้มว่าปีหน้าสถานการณ์จะรุนแรงกว่าปีนี้ เพราะเม็ดเงินงบประมาณของรัฐเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีนี้" นางเสาวณีย์ กล่าว

นางเสาวณีย์ กล่าวต่อว่า โครงการที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการคอร์รัปชันมากที่สุดจะเป็นโครงการที่มีงบประมาณในการดำเนินการมาก เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท โครงการก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐ มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีการคอร์รัปชันมากอันดับ 1 คือ นักการเมือง รองลงมาคือ นักธุรกิจ ส่วนข้าราชการ มักจะทำตามน้ำ อย่างไรก็ตามต้องการให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อให้สาธารณะชนได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการดำเนินการในทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะแค่การเปิดเผยเงื่อนไขในการดำเนินการ(ทีโออาร์) เท่านั้น