posttoday

ครม.ทุ่ม 15,000ล.อุ้มราคายาง

17 กรกฎาคม 2555

ณัฐวุฒิ เผย ครม. ไฟเขียวงบ 15,000 ล้านบาท พยุงราคายาง 100-104 บาท /กก. ด้านเจ้าของสวนยางภาคใต้พอใจ เชื่อเป็นผลบวกต่อตลาดยาง

ณัฐวุฒิ เผย ครม. ไฟเขียวงบ 15,000 ล้านบาท พยุงราคายาง 100-104 บาท /กก. ด้านเจ้าของสวนยางภาคใต้พอใจ เชื่อเป็นผลบวกต่อตลาดยาง 

ครม.ทุ่ม 15,000ล.อุ้มราคายาง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมอนุมัติงบประมาณเข้าแทรกแซงราคายางพาราในท้องตลาดวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินขององค์การส่วนยางที่มีอยู่เดิม 10,000 ล้านบาท และงบประมาณจัดสรรเพิ่มเติมอีก 5,000 ล้านบาท

"หากสถานการณ์ราคายางยังไม่ดีขึ้นจากนี้ จะมีการขอวงเงินเพิ่มอีก 15,000 ล้านบาท รวมเป็น 30,000 ล้านบาทต่อไป ซึ่งจะรับซื้อยางได้ในปริมาณรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัน"นายณัฐวุฒิกล่าว

โดยราคาที่จะแทรกแซงยางพาราดิบจะอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 104 บาทต่อกิโลกรัม หากการหารือของคณะอนุกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ได้ข้อสรุปในวันนี้ จะสามารถรับซื้อราคายางได้ตามที่กำหนดไว้ทันทีในวันพรุ่งนี้(18 ก.ค.)ซึ่งการรับซื้อยางดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า

ด้าน นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง(อสย.) กล่าวว่าการที่มีการประกาศจะรับซื้อยางพาราแผ่นดิบในกิโลกรัมละ 100 บาทและยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ราคา  104 บาทต่อกิโลกรัม นั้นถือเป็นการประกาศของรัฐที่จะเข้ามาแทรกแซงราคายาง เนื่องจากโครงการจะไม่มีการรับซื้อราคาต่ำกว่านี้แม้ว่าราคาในตลาดโลกลดลง แต่ในทางกลับกัน หากราคาตลาดโลกมีการปรับตัวขึ้นก็จะมีการปรับราคาหนีราคาดังกล่าวออกไปเพื่อไปสู่ตามเป้าหมาย 120 บาท

อย่างไรก็ตามการกำหนดราคารับซื้อนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำหนดราคาที่จะพิจารณาสถานการณ์เพื่อประกาศราคาเป็นระยะ

ขณะที่ นายมนูญ อุปลา ประธานสมาพันธ์เกษตรกรชาวสวนยาง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี และประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนเวียงสระพัฒนา เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางใน จ.สุราษฎร์ธานี มีความพอใจในระดับหนึ่งที่ มติ ครม.ให้รับซื้อยางพาราชั้น 3 ก.ก.ละ 100 บาทและยางรมควัน ก.ก.ละ 104 บาท ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรทำสวนเวียงสระพัฒนา จะเริ่มเปิดรับซื้อในราคาใหม่ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.นี้เป็นต้นไปในวงเงินหมุนเวียน 50 ล้านบาทที่ได้รับอนุมัติจากคณะอนุกรรมการจังหวัด โดยขณะนี้เริ่มเห็นได้จากการที่เกษตรกรมีการเก็บยางหรือชะลอนำยางออกมาขายเพื่อรอขายในราคา 100 บาท แต่อย่างไรก็ตามราคายางในท้องถิ่นล่าสุดได้ขยับขึ้นจาก 86 บาทเป็น 88.98 บาทแล้ว

นายมนูญ กล่าวว่า มีความเข้าใจว่าการเรียกร้องราคายาง 120 บาทคงเป็นไปไม่ได้ และจะขึ้นทีเดียวคงไม่ได้จะต้องเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจตลาดโลก รวมทั้งมีปัจจัยจากกลุ่มประเทศผู้ซื้อจากญี่ปุ่นและจีน ซึ่งราคายางวันนี้ 85-86 บาทขึ้นเป็น 100 บาทก็น่าจะพอใจได้ เพราะเท่าที่ทราบมติ ครม.จะไม่ให้ยางต่ำกว่า 100 บาท หากสูงกว่านั้นก็ให้เป็นไปตามกลไกตลาด

"หลังจากนี้เชื่อว่าตลาดยางพาราจะมีความคึกคักเป็นอย่างมากและเท่าที่ทราบรัฐบาลมีเงินมาใช้ซื้อยางอยู่ 15,000 ล้าน หากเงินหมดยังมีอีกก้อนใหญ่จากเงินรับจำนำข้าว 90,000 ล้านบาทมาช่วยพยุงราคาได้"นายมนูญ กล่าว 

ด้านนายมนัส แพชนะ ผอ.ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากมติ ครม.ออกมามีผลในทางบวกต่อตลาดยางพาราเป็นยางมาก โดยมียางเข้าตลาด 60,000 – 70,000 ก.ก.และได้ราคาขึ้นเป็น ก.ก.ละ 90.75 บาท เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีเกษตรกรนำยางปริมาณมหาศาลเข้ามาส่งขายในตลาดกลาง