posttoday

อุตฯขอบางจากทำพื้นที่กั้นโรงกลั่น-ชุมชน

05 กรกฎาคม 2555

กระทรวงอุตฯเตรียมส่งหนังสือขอความร่วมมือบางจาก ทำพื้นที่กันชนระหว่างโรงกลั่นและเขตชุมชน

กระทรวงอุตฯเตรียมส่งหนังสือขอความร่วมมือบางจาก ทำพื้นที่กันชนระหว่างโรงกลั่นและเขตชุมชน 

อุตฯขอบางจากทำพื้นที่กั้นโรงกลั่น-ชุมชน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เตรียมจะทำหนังสือจากกระทรวงอุตสาหกรรม ขอความร่วมมือบริษัทบางจากให้จัดทำพื้นที่กันชนระหว่างโรงกลั่นน้ำมันกับชุมชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน หลังจากเกิดเหตุการณ์โรงกลั่นระเบิดในครั้งนี้ โดยปัจจุบันการทำแนวกันชนไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับ แต่เป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการที่จะทำขึ้นเอง  เหมือนกับในพื้นที่มาบตาพุดที่มีการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้จัดทำแนวกันชน ซึ่งทุกโรงงานก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ มาตรการการทำพื้นที่กันชนน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่โรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และจะเป็นแนวทางที่ง่ายกว่าการย้ายโรงกลั่นน้ำมันไปอยู่ในพื้นที่อื่น โดยพื้นที่ของบางจากยังคงมีเหลืออยู่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ด้านหน้า

"พื้นที่กันชนยังไม่เป็นกฎหมายออกมาอย่างชัดเจนว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องจัดทำ แต่เป็นเรื่องความสมัครใจของโรงงาน และเป็นเรื่องที่โรงงานควรจะทำ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะทำหนังส่งไปให้บางจากภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนบางจากจะไปหารือกับชุมชนอย่างไรเรื่องการทำพื้นที่กันชนอยู่ขึ้นอยู่กับบริษัทบางจากเอง"นายวิฑูรย์ กล่าว

สำหรับบางจากขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งหยุดการดำเนินการ 30 วัน ในพื้นที่หอกลั่นที่ 3 ซึ่งการสั่งหยุดตามพ.ร.บ.โรงงานปี 2535 มาตรา 39 ก็ถือเป็นมาตรการให้โรงงานต้องไปปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยให้เรียบร้อย เพราะโดยปกติกระทรวงอุตสากรรมไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษ

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการจัดทำประกาศกระทรวงว่าด้วยเรื่องการกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยง โดยเฉพาะโรงงานที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงจะเกิดอันตราย ที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 2,600 ราย และโรงงานที่ตั้งอยู่นอกพื้นนิคมอุตสาหกรรม เพราะมีโอกาสที่จะอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ชุมชน โดยร่างประกาศฉบับดังกล่าวจะเร่งจัดทำให้เสร็จภายใน 30 วันจากนี้ และนำเสนอให้ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ลงนาม เพื่อบังคับใช้กับโรงงงานที่มีความเสี่ยง

สำหรับรายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าว จะกำหนดให้ 1.โรงงานอุตสาหกรรมต้องตรวจสอบวิเคราะห์โรงงานของตัวเองว่าภายในโรงงานที่พื้นที่กี่จุดที่เป็นจุดเสี่ยงจะเกิดอุบัติภัย และต้องระบุวิเคราะห์ความเสี่ยงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ใดบ้าง

2.ประเมินความเสี่ยงในแต่ละจุด และโอกาสที่จะเกิดขึ้นรวมถึงกำหนดระดับความเสี่ยงของแต่ละจุดว่าหากเกิดขึ้นแล้วจะสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง 3. จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และ 4.ให้โรงงานจุดทำแผนฉุกเฉินและจัดให้มีการซ้อมแผนฉุกเฉินทุกๆ 6 เดือนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และกำหนดอย่างชัดเจนว่าใครควรอยู่ร่วมซ้อมแผนฉุกเฉินด้วย รวมทั้งต้องนำแผนของชุมชนมาประกอบกับแผนของโรงงาน และกำหนดให้โรงงานต้องรายงานแผนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงมาก เช่น โรงกลั่นน้ำมัน หรือโรงานที่มีวัตถุอันตรายครอบครอง ที่มีอยู่ประมาณ 900 โรงงาน จาก 2,600 ราย จะต้องรายงานแผนดังกล่าวต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมทุกปี