posttoday

ซัมซุงเอ็นจิเนียฯดันไทยฮับก่อสร้าง

02 กรกฎาคม 2555

ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง เกาหลีใต้ ดันไทยเป็นฮับก่อสร้างอาเซียน มุ่งรับงานก่อสร้างโรงงานไฮโดรคาร์บอน-ปิโตรเคมี

ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง เกาหลีใต้ ดันไทยเป็นฮับก่อสร้างอาเซียน มุ่งรับงานก่อสร้างโรงงานไฮโดรคาร์บอน-ปิโตรเคมี

นายคิเซิค ปาร์ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง เปิดเผยว่า บริษัทได้วางแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้หลังจากที่เข้ามาก่อตั้งบริษัท ซัมซุง ไทย เอ็นจิเนียริ่ง ครบ 20 ปี โดยจะให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับ ด้านการก่อสร้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงออสเตรเลีย เนื่องจากแรงงานคนไทยนั้นมีศักยภาพ โดยเฉพาะวิศวกร และไทยถือเป็นศูนย์กลางเพื่อรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ปัจจุบันบริษัทมีการว่าจ้างวิศวกร ไทยจำนวน 70 คน ภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 200 คน และตั้งเป้าว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะเพิ่มอีก 200 คน รวมเป็น 400 คน ขณะที่มหาวิทยาลัยในไทยมีการผลิตบุคลากรทางด้านวิศวกรรมเฉลี่ยปีละ 1 หมื่นคน โดยการใช้วิศวกรชาวเกาหลีมาทำงานในไทยเพียง 10 คน
ทั้งนี้ รูปแบบงานก่อสร้างที่บริษัทมีความชำนาญ คือ การทำธุรกิจวิศวกรรมจัดหาและก่อสร้าง (EPC) ในอุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอนและปิโตรเคมี

“ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาบริษัท รับงานก่อสร้างใหญ่จากบริษัทชั้นนำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปตท. บริษัท ปตท. โกลบอล เคมิคอล บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำนวน 17 โครงการ และล่าสุดเพิ่งก่อสร้างโครงการ GSP-6 กับบริษัท ปตท. มูลค่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโครงการโรงแยกก๊าซใหญ่ที่สุดในโลก” นายปาร์ค กล่าว

ขณะนี้บริษัทมีงานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการใน 9 ประเทศทั่วโลก จำนวน 18 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นงานที่อยู่ในตะวันออกกลางถึง 60% คิดเป็นมูลค่างานรวม 3.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในไทยและในอาเซียน คาดว่าจะเติบโตอย่างมากหลังจากยุโรปเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหรือวิกฤตยูโรโซน แต่ก็เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายได้โดยเร็ว

นายปาร์ค กล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองในไทยเรื่องการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง ที่อาจจะมีต่อเนื่องนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ แต่มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับแผนการดำเนินงานของบริษัท

ด้านความเคลื่อนไหวของซัมซุง เอ็นจิเนียริ่งปีนี้ ในเดือน มิ.ย. เข้าร่วมประมูลรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า กรอบวงเงินใหม่ 28,899 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย คือ 1.กลุ่มมิตซูบิชิ เฮฟวี่ มีบริษัท ฮิตาชิ และบริษัท ซูมิโตโม 2.กิจการร่วมค้า SMCK มีบริษัท ซีเมนส์ บริษัท มิตซูบิชิ และบริษัท ช.การช่าง 3.กิจการร่วมค้า MIR มีบริษัท มารูเบนิ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ และบริษัท โรเทมส์ (Rotems) และ 4.กลุ่มบริษัท ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง