posttoday

ดัชนีผลผลิตอุตฯพ.ค.เพิ่ม5.5 %

28 มิถุนายน 2555

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.อยู่ที่ 187.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% ใช้กำลังการผลิต 75.8% สูงสุดในรอบ 12 ปี

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.อยู่ที่ 187.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% ใช้กำลังการผลิต 75.8% สูงสุดในรอบ 12 ปี

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ประจำเดือนพ.ค. 2555อยู่ที่ระดับ 187.99 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 178.14  มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยูที่ระดับ 75.87% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 59.9% เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับตัวดีขึ้นหลังจากวิกฤตน้ำท่วม โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เร่งผลิตเพื่อชดเชยความต้องการที่ค้างมาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วม ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงสุดในรอบ 12 ปี หรือสูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2543

ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ย เดือนม.ค.-พ.ค. 2555 มีค่าดัชนีเฉลี่ย 175.43% ขยายตัวลดลง 3.23% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 66.31% ซึ่งอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อดัชนี ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เนื่องจากการผลิตยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่จากปัญหาอุทกภัย แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4  และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

“แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังยังเป็นไปตามเป้าหมาย ที่คาดว่าเอ็มพีไอจะขยายตัวที่ 6-7% เพราะสถานการณ์ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยแนวโน้มยังคงเป็นบวกต่อไป” นายโสภณ กล่าว

สำหรับการฟื้นตัวโรงงานอุตสาหกรรมหลังน้ำท่วม โรงงานอุตสาหกรรมทยอยฟื้นตัวเข้าสู่ระดับปกติก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม ซึ่งเป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ รวมถึงยังมีอุตสาหกรรมบางประเภทที่ฟื้นตัวดีเกินคาด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และเร่งผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 ยกเว้นบางอุตสาหกรรมที่อาจมีปัญหาเรื่องเทคนิคการผลิตเฉพาะ เช่น อิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปต่อภาคอุตสาหกรรมไทยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาดยุโรปในเดือนพ.ค.ยังขยายตัวได้ 9.2%  โดยสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปอยู่ที่ 11.01% ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและจีนก็ขยายตัวออย่างรวดเร็ว ผลกระทบจากวิกฤตยุโรปจึงยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ อัญมณี และอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากมีการส่งออกไปตลาดยุโรปค่อนข้างมาก ส่วนยานยนต์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้การส่งออกรถยนต์ไปยุโรป ไทยยังได้สิทธิทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วให้แก่ประเทศด้อยพัฒนา (สิทธิจีเอสพี) ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี

ทั้งนี้ เมื่อยุโรปเกิดวิดฤตเศรษฐกิจอาจจะออกมาตรการเชิงรุกให้คนพยายามใช้สินค้าภายในประเทศ ทำให้ยุโรปอาจจะตัดสิทธิจีเอสพีของไทย หากถูกตัดแล้วจะทำให้ราคาสินค้าของไทยสูงกว่า และอาจแข่งขันไม่ได้ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยมีการผลิตแบบครบวงจร หากได้รับผลกระทบอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนด้วย จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่