posttoday

ครม.เศรษฐกิจมั่นใจรับมือวิกฤตหนี้ยุโรป

27 มิถุนายน 2555

ครม.เศรษฐกิจ มั่นใจรับมือ วิกฤตอียู แต่ห่วงกระทบส่งออก จับตา กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-สิ่งทอ เพราะจ้างงานสูง

ครม.เศรษฐกิจ มั่นใจรับมือ วิกฤตอียู แต่ห่วงกระทบส่งออก จับตา กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-สิ่งทอ เพราะจ้างงานสูง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง  กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการหารือและประเมินสถานการณ์ที่ไซปรัสเข้าสู่ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (ไอเอ็มเอฟ) ว่าไม่น่ามีปัญหา  เพราะเป็นประเทศเล็ก เชื่อว่าสหภาพยุโรป  (อียู) คงดูแลได้ไม่ให้ปัญหาขยายวงได้  ส่วนการปรับลดเครดิตของสถาบันการเงินหลายสิบแห่งในช่วงที่ผ่านมามีการหารือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นประเมินผลประกอบการของสถาบันการเงินไทยก็ดีขึ้น มีความแข็งแกร่ง จึงมั่นใจว่าสถาบันการเงินไม่มีผลกระทบและการที่รัฐบาลมีการปรับตัวขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 50 ล้านบาท ก็ช่วยรองรับและเพิ่มความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินได้

"ยังไม่มีการออกมาตรการใดๆ เพิ่มเติม แต่จะเน้นในเรื่องการติดตามผลกระทบ โดยมองผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเป็นการหารือถึงความพร้อมในการรับมือด้านต่างๆ"นายอารีพงศ์ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความเป็นห่วงสถานการณ์การส่งออกที่อาจจะกระทบต่อการจ้างงาน โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและจับตา  คือ  อิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ เพราะมีการจ้างงานสูง โดยจะมีการจับตาบริษัทจำนวน 2,100 แห่งเหล่านี้อย่างใกล้ชิด  เพื่อไม่ให้มีผลต่อการจ้างงาน  แต่จากตัวเลขการว่างงานที่รายงานในที่ประชุมนั้น ก็ยังไม่ถือว่าน่าเป็นห่วง  เพราะตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องของฤดูกาลที่มีนักศึษาจบใหม่เข้ามา ในตลาดแรงงานประมาณ  80,000 ราย จึงทำให้ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เชื่อว่าจะลดลงเมื่อแรงงานใหม่เริ่มหางานทำได้ 

"ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีการหารือกับทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อปรับกลยุทธ์และหาแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออก ขณะที่วันที่ 30มิถุนายนนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะหารือกับกลุ่มผู้ส่งออกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางในการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น"นายอารีพงศ์กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  กล่าวว่า แม้ว่าการส่งออกที่่ผ่านมาจะชะลอตัว แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมกลับเป็นบวกร้อยละ 7-8 ดังนั้น จึงไม่ลดเป้าหมายการส่งออกจากร้อยละ  15   โดยครึ่งปีหลังจะพยายามหาทางผลักดันการส่งออก ชดเชยการส่งออกไปยุโรปที่ดูเหมือนจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะเมื่อไซปรัส เป็นประเทศที่ 5 ที่ขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ  ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 5.5-6.5 จากการลงทุนป้องกันน้ำท่วม การบริโภคภาคเอกชน  และการลงทุนในการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรม

นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้สั่งให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงและพึ่งพาเงินกู้ต่างประเทศทบทวนสัดส่วนเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงหันมากู้ในประเทศเพื่อปิดความเสี่ยง เพราะมีสภาพคล่องสูง ส่วนกรณีวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปจะทำให้ราคาเครื่องจักรที่ใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถูกลง จึงต้องอาศัยจังหวะนี้เจรจาต่อรอง เพื่อซื้อราคาที่ถูกลง แต่การลงุทนรถไฟความเร็วสูงรัฐบาลกำลังเดินหน้าเปิดประมูลนานาชาติ และมีนักลงทุนจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุน เร็ว ๆ นี้นายกรัฐมนตรีก็เตรียมที่จะเดินหน้าชี้แจ้งนักลงทุน

นายอภิชาติ จงสกุล เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  (สศก.)  กล่าวว่าภาพรรวม  4  เดือนแรก มูลค่าการส่งออกยางลดลงร้อยละ 49 มาจากผลกระทบโดยตรงจากปัญหาในยุโรปที่ชะลอตัว นอกจากนี้  ยังมีข้าวและผลไม้กระป๋องที่ลดลงด้วย ซึ่งภาพรวมของสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกไปอียู ประมาณร้อยละ 12 ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ  จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูผลกระทบรายสาขาและหาแนวทางแก้ไข

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวว่า การที่รัฐบาลขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝาก 50 ล้านบาทต่อบัญชีออกไปอีก 3 ปี จะมีส่วนช่วยให้ระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะจะขจัดปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินฝากระหว่างธนาคารรัฐและเอกชนลงไปได้  ทำให้ระบบการเงินนิ่งขึ้น และะทำให้รัฐบาลมีเวลาในการจัดการปัญหาและรับมือกับสถานการณ์ภายนอกที่ยังไม่แน่นอน