posttoday

กนอ.โชว์ยอดขายพื้นที่นิคมฯพุ่ง40%

04 เมษายน 2555

กนอ.โชว์ยอดขาย 5 เดือน 1,744 ไร่ เพิ่มขึ้น 40% พร้อมผุดนิคมฯใหม่รองรับกระแสย้ายการลงทุนเข้านิคมฯ และตั้งนิคมฯชายแดนรับเออีซี

กนอ.โชว์ยอดขาย 5 เดือน 1,744 ไร่ เพิ่มขึ้น 40% พร้อมผุดนิคมฯใหม่รองรับกระแสย้ายการลงทุนเข้านิคมฯ และตั้งนิคมฯชายแดนรับเออีซี

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนต.ค. 2554 – ก.พ. 2555 มียอดขายนิคมฯอยู่ที่ 1,744 ไร่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40.8% หรือคิดเป็น 505.85 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ของกนอ.ดำเนินการเอง 27.43 ไร่ และนิคมฯร่วมดำเนินการ 1,716 ไร่ มีนักลงทุนเข้ามาขออนุญาตใช้ที่ดินใหม่จำนวน 78 ราย แจ้งเริ่มประกอบกิจการอุตสาหกรรม 76 ราย เกิดการจ้างงาน 6,670 คน

สำหรับสาเหตุที่การลงทุนในนิคมฯมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เป็นมีกระแสการย้ายฐานการลงทุนเข้ามาอยู่ในนิคมฯ ทำให้การใช้พื้นที่ของนิคมฯมีเพิ่มมากขึ้น เพราะนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความมั่นใจในมาตรการดูแลผู้ประกอบการ และภายในนิคมฯ มีการจัดทำแนวป้องกันน้ำถาวร เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ จากแนวโน้มความสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯ ที่เพิ่มขึ้น  ทำให้มีนิคมฯร่วมดำเนินการใหม่ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกนอ.จำนวน 4 โครงการ พื้นที่รวม 6,260 ไร่ ประกอบด้วย นิคมฯ ล้านนา จังหวัดลำพูน จำนวน 601 ไร่ โดยบริษัทเอื้อมพร เรียลเอสเตท  นิคมฯ ซี.พี. พื้นที่ 3,115 ไร่ จังหวัดระยอง โดยบริษัทซี.พี.แลนด์ นิคมฯ นิคมฯเหมราชชลบุรี (โครงการ 2) พื้นที่ 637 ไร่ จังหวัดชลบุรี โดยบริษัทเหมราช และนิคมฯชัยโย อินดัสเตรียลพาร์ค พื้นที่ 1,907 ไร่ จังหวัดชลบุรี โดยบริษัทชัยโย อินดัสเตรียล ปาร์ค

รวมทั้งยังมีนิคมฯที่ขอขยายพื้นที่รวม 118 ไร่ ได้แก่ นิคมฯปิ่นทอง (โครงการ 3) ขอขยายพื้นที่ 56 ไร่ จังหวัดชลบุรี และนิคมฯอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ขอขยายพื้นที่ 62 ไร่ จังหวัดระยอง

"ในปีนี้กนอ.กำหนดเป้าหมายการขายพื้นที่ไว้ทั้งหมดรวม 3,100 ไร่ โดยจะเป็นพื้นที่ในนิคมฯกนอ.ประมาณ 50-100 ไร่ และนิคมฯร่วมดำเนินการ 3,000 ไร่ โดยเชื่อว่าจะขายได้ตามเป้าหมาย เพราะกระแสการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในนิคมฯ มีมากขึ้น"นายวีรพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ กนอ.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งนิคมฯ ชายแดน เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ประกอบด้วย โครงการศึกษาความเป็นไปได้จัดตั้งนิคมฯชายแดนด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี โดยอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและสำรวจพื้นที่เหมาะสม เบื้องต้นจะพัฒนาเป็นนิคมฯบริการด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าเทกอง และคอนเทนเนอร์ เชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมฯทวาย เริ่มดำเนินการ 2556-2557 พร้อมเปิดบริการปี 2558

โครงการศึกษาความเป็นไปได้จัดตั้งนิคมฯ อำเภอเชียงของ จังหวัดชายราย เป็นนิคมฯที่ผสมรูปแบบเขตอุตสาหกรรมการผลิต การบริการด้านโลจิสติกส์ เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งเส้นทางสาย อาร์3เอ (ไทย-ลาว-จีนตอนใต้)ที่สร้างเสร็จแล้ว และเส้นทางสะพานข้ามแม่น้ำโขง(เชียงของ-ห้วยทราย)ซึ่งจะเสร็จในปี 2556 คาดว่าจะพัฒนาประมาณ 2,000 ไร่ มีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ เกษตรแปรรูป ยา อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และยังมีการศึกษาพื้นที่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เช่น ขอนแก่น อุดรธานี นครพนม และเพชรบุรี เป็นต้น