posttoday

แนะรัฐขยายสิทธิประโยชน์ลงทุนภาคใต้

02 เมษายน 2555

เอกชนไม่หวั่นระเบิด ขอรัฐขยายเวลาสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนพิเศษในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 5 ปี

เอกชนไม่หวั่นระเบิด ขอรัฐขยายเวลาสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนพิเศษในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 5 ปี

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้ยื่นเรื่องต่อรัฐบาลขอขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์พิเศษด้านการลงทุนในพื้นที่ชายภาคใต้ 4 จังหวัด และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ออกไปอีก 5 ปี หลังจากที่สิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะหมดอายุภายในปี 2555 เนื่องจากต้องการให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่อยู่แล้ว และต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มเข้าไปลงทุนอยู่บ้าง เนื่องจากใกล้แหล่งวัตถุดิบ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดอาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอยู่บ้างบางส่วน แต่สำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแล้วไม่ได้วิตกกังวลมาก และธุรกิจจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ

"ต้องการให้เกิดการขยายการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น จึงได้เสนอให้รัฐบาลต่ออายุสิทธิประโยชน์ออกไปอีก 5 ปี โดยคงเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์เหมือนเดิม เพื่อเอื้อต่อการขยายการลงทุนในพื้นที่ รวมทั้งอาจจะช่วยเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนใหม่เพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลได้รับข้อเสนอไปพิจารณาแล้ว"นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดูแลสานงานเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในเขตพิเศษจะครอบคลุมในพื้นที่ 4 ได้แก่ ยะลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอสะเดา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี โดยผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนนพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 3% และมีวงเงินสนับสนุน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 2.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ภาคเอกชนต้องการให้มีการต่ออายุสิทธิประโยชน์พิเศษดังกล่าวออกไปอีก 5 ปี นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การมีสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ค่าขนส่ง ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าประกันภัย ได้สองเท่าตามจ่ายจริง เพราะผู้ประกอบการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนใหม่ค่อนข้างน้อย หรือไม่มีเพิ่มเลย แต่กลุ่มที่ลงทุนอยู่แล้วยังคงต้องการขยายการลงทุนเพิ่ม หรือขยายโรงงาน ซึ่งหากไม่มีสิทธิประโยชน์อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่ได้ โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่เข้าไปตั้งอยู่ ได้แก่ ยางพารา แปรรูปยางพารา และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะลเป็นต้น