posttoday

เอกชนหวั่นไทยถูกบัญชีดำฟอกเงิน

28 มีนาคม 2555

เอกชนหวั่นไทยถูกขึ้นบัญชีดำเรื่องการฟอกเงิน หากไม่แก้ปัญหาภายใน 1 ปี หลังเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออก-นำเข้า และท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบ

เอกชนหวั่นไทยถูกขึ้นบัญชีดำเรื่องการฟอกเงิน หากไม่แก้ปัญหาภายใน 1 ปี หลังเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออก-นำเข้า และท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายในงานเสวนาระดมความคิดเห็น เรื่อง “FATF ขึ้นบัญชีดำประเทศไทย ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ” ว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งปลดล็อกไทยออกจากการขึ้นบัญชีให้ไทยเป็นประเทศเฝ้าระวังสูงสุดทางการฟอกเงินและสนับสนุนเงินแก่การก่อการร้าย เนื่องจากหากปล่อยละเลยไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไข ภายใน 1 ปี ครบกำหนดวันที่ 17 ก.พ. 2556 ไทยอาจถูกจัดอยู่ในบัญชีดำ หรือถูกห้ามทำธุรกรรมทางการเงินด้วย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวังสูงสุด ได้รับผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศจะเกิดการล่าช้า ต้องมีการตรวจสอบเอกสารมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย รวมถึงการแลกเปลี่ยนกู้ยืมเงินของบริษัทข้ามชาติจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน

เอกชนหวั่นไทยถูกบัญชีดำฟอกเงิน ธนิต

ขณะเดียวกัน กลุ่มนักธุรกิจ ผู้ส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ต้องทำธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศ จะได้รับผลกระทบทั้งการโอนตั๋วเงิน การซื้อตั๋วแลกเปลี่ยนในการซื้อสินค้าและการชำระเงินค่าสินค้า เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบกระบวนการทางเอกสารนาน โดยเฉพาะการค้าขายกับประเทศตะวันตก สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในรอรับเงินค่าสินค้านานขึ้น และอาจถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังต้องมีการเปิดเผยแหล่งที่มาของเงิน และปลายทางของเงินซึ่งอาจทำให้ลูกค้าของไทย หันไปซื้อสินค้าและบริการที่อื่นแทนประเทศไทย เพราะไม่ต้องการเจอกระบวนการที่ยุ่งยาก

“เดิมเราคิดว่าปัญหาจะกระทบแค่ภาคการเงิน แต่จริงๆ แล้วผลกระทบเป็นวงกว้าง และกระทบมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะการทำธุรกิจนำเข้า ส่งออก ที่ต้องมีขั้นตอนในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่ยุ่งยากมาก ซึ่งเอกชนก็เป็นกังวลหากไทยจะถูกลดอันดับไปอยู่ในแบล็กลิส จะเป็นปัญหามากขึ้น” นายธนิตกล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐบาลต้องตั้งคณะทำงานมากำกับดูแลการออกกฎหมาย 2 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงิน และ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้ายที่ค้างมานานกว่า 5 ปี โดยกฎหมายต้องเป็นธรรมและคำนึงผลกระทบในวงกว้าง ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือภาครัฐและฝ่ายการเมือง และจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาล กระทรวงการคลัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และผู้แทนจากเอกชน รวมถึงต้องมีการชี้แจงความคืบหน้าให้ FATF รับทราบเพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหา ชี้แจงให้ภาคธุรกิจ และตลาดทุนเข้าใจถึงสถานการณ์ดังกล่าว