posttoday

ปูฟุ้งจุดแข็งไทยดึงเชื่อมั่นญี่ปุ่น

07 มีนาคม 2555

นายกรัฐมนตรีฟุ้งจุดแข็งไทย 4 ประการ เสริมการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย

นายกรัฐมนตรีฟุ้งจุดแข็งไทย 4 ประการ เสริมการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย

วันนี้ เวลา 14.35 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)  ณ ห้อง Peacook Room ชั้น 2 โรงแรม Imperial นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการหารือระหว่างภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น ระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่น  ซึ่งประกอบไปด้วยภาคเอกชนของไทย และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีแผนจะขยายการลงทุนในไทย อาทิ Toshiba, Honda, Toyota, Nissan Motor, Mitsubishi Motor Cooperation, Isuzu Motor เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นที่ยาวนานกว่า 125 ปีที่ ไทยและญี่ปุ่นมีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดแนบแน่นในทุกๆ ด้าน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเป็นหุ้นส่วนธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นและไทย เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สร้างสรรค์ความสัมพันธ์อันดีและส่งผลต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมิใช่แต่เพียงระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ยังได้สร้างความรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคและเป็นกลไกที่เอื้ออำนวยแก่พลวัตของเศรษฐกิจโลกภายใต้ระบบโลกาภิวัตน์ด้วย จนถึงวันนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง ที่ประจักษ์ว่าความร่วมมือดังกล่าวมีพัฒนาการก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง  และเชื่อว่า ไม่ว่าจะเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สร้างความท้าทายต่อประเทศทั้งสองเพียงใด ไทยและญี่ปุ่นก็จะมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือและพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อให้เศรษฐกิจของเรามีความมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับและถือเป็นการเน้นย้ำว่าไทยและญี่ปุ่นต่างมีความสำคัญต่อกันและกันอย่างแท้จริง

ในปีที่ผ่านมา ทั้งญี่ปุ่นและไทยต่างก็ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อต้นปี และมหาอุทกภัยในไทยช่วงปลายปีได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทั้งรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยได้รับและมีความประทับใจอย่างยิ่ง คือ ในยามที่ต่างฝ่ายต่างประสบความเดือดร้อนอย่างสาหัส น้ำใจไมตรีที่เพื่อนได้มอบให้เพื่อนในยามยากนั้น เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น มิได้เป็นเพียงความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั่วไปที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นหุ้นส่วนมิตรภาพทางเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง และพร้อมจะอยู่เคียงข้างเพื่อช่วยเหลือกันเสมอ ไม่ทอดทิ้งกันทั้งในภาวะปกติและยามวิกฤต ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาล ภาคเอกชนและประชาชนชาวญี่ปุ่น ที่ได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยพลิกฟื้นจากวิกฤตอุทกภัย ซึ่งในวันพรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะจะมีโอกาสเดินทางไปเมืองเซนไดเพื่อเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยพิบัติและให้กำลังใจแก่เพื่อนชาวญี่ปุ่นด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงความตั้งใจที่จะสนับสนุนและเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมของภาคเอกชนของทั้งสองประเทศอย่างเต็มที่ โดยตระหนักว่าการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติอุทกภัยจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่นของนักธุรกิจเพื่อให้มาร่วมผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่อภาคธุรกิจอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง พร้อมไปกับการบริหารจัดการให้เศรษฐกิจไทยซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่ง มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับผลกระทบอันเกิดจากภัยพิบัติ และประการที่สำคัญคือการเร่งเสริมสร้างมาตรการและโครงสร้างในการป้องกันอุทกภัยทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมายืนอยู่ในเวทีเศรษฐกิจโลกได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม 

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงกลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทยที่มาพบหารือกันในวันนี้ว่า ล้วนต่างมาจากสาขาธุรกิจที่มีความสำคัญและมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าไปประกอบธุรกิจในไทยมายาวนาน รวมทั้งเป็นสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีประสบการณ์ ความเข้าใจ และความพร้อมในการทำงานร่วมกันกับฝ่ายญี่ปุ่น ผู้ประกอบการในระดับ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนอยู่เป็นจำนวนมากในแต่ละประเทศ ต่างเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ต้องให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ไทยและญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนให้มีห่วงโซ่การผลิตที่มั่นคงและกระตุ้นการบริโภคในทุกระดับเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เท่าเทียมและสมดุล (sustainable, inclusive and balanced growth)

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว มีส่วนร่วมสำคัญในการจัดงานในวันนี้ ในส่วนของประเทศไทย จึงมีความมั่นใจว่า ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยที่เอื้อต่อการเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาเซียน ตลอดจนจีนและอินเดีย ประสบการณ์ความพร้อมของเอกชน และแรงงานไทยที่มีคุณภาพ หรือปัจจัยเชิงนโยบาย เช่น มาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจากไทย ทั้งในส่วนที่เป็นบริษัทไทยและบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนเอื้ออำนวยต่อการขยายเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคทั้งสิ้น และเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐของทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการดำเนินการลดอุปสรรคและเพิ่มช่องทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ เช่น สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การพบปะระหว่างนักธุรกิจไทยและญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่จะก่อผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ความเข้มแข็งของภาคเอกชนจะนำพาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืนได้ ดิฉันขออำนวยพรให้การพบหารือในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และหวังว่า จะได้ใช้โอกาสนี้ในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางธุรกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่แน่นแฟ้นใกล้ชิดยิ่งขึ้น และร่วมมือกันขับเคลื่อนการสร้างความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่นร่วมกันต่อไป