posttoday

ชงครม.สัญจรภูเก็ตแผนพัฒนาศก.ใต้

06 มีนาคม 2555

ประชุมกกร.เอกชนเตรียมหารือแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ เสนอครม.สัญญจรที่จังหวัดภูเก็ต

ประชุมกกร.เอกชนเตรียมหารือแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ เสนอครม.สัญญจรที่จังหวัดภูเก็ต

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 6 มี.ค.2555 จะมีการหารือเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 19-20 มี.ค. 2555 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยภาคเอกชนจะเตรียมยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ไปนำเสนอต่อรัฐบาล

ทั้งนี้ ในภาคใต้ยังขาดเรื่องการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งในจังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร ซึ่งปัจจุบันท่าเรือมีอยู่แล้วแต่ยังไม่มากพอ และส่วนใหญ่เป็นท่าเรือของเอกชนที่ดำเนินการลงทุนเอง จึงต้องการให้ภาครัฐมาลงทุนสร้างท่าเรือหลัก เพื่อให้เรือของเอกชนสามารถเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้เอกชนต้องลงทุนเองสร้างทั้งท่าเรือ และถนนเชื่อมต่อ ทำให้ต้นทุนการส่งขนสินค้าทางน้ำเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลมีท่าเรือกลางจะประหยัดกว่า และมีการใช้ประโยชน์การขนส่งทางน้ำได้เต็มที่


ขณะเดียวกันการขนส่งทางรถไฟก็มีความสำคัญ เนื่องจากภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีสินค้ามาก รถไฟรางคู่กรุงเทพมหานคร-หาดใหญ่จึงมีความจำเป็น เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำ และทางบกที่เข้ามาจากมาเลเซีย รวมทั้งรัฐบาลควรจะมีนโยบายปรับปรุงด่านการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย เนื่องจากปัจจุบันด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ มีความแออัดมาก ขณะที่มาเลเซียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน การส่งสินค้ากว่า 60% เป็นการขนส่งทางบกผ่านเข้ามาทางด่านทั้ง 2 แห่ง ภาคเอกชนจึงต้องการให้มีการสร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า

รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราภาคใต้ และยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน ให้เป็นนโยบายแห่งชาติ เพื่อช่วยเกษตรกรให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงสู่พลังงานทดแทน ได้แก่ ไบโอดีเซล จึงต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมีทิศทางการพัฒนาอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรปรับตัว ไม่ใช่เปลี่ยนไปมาเหมือนทุกวันนี้

นอกจากนี้ ควรจะส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล และวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากภาคใต้มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเป็นจำนวนมาก แต่ควรส่งเสริมไปในด้านของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาล หรือด้านการศึกษา เป็นต้น

“ภาคใต้ในปัจจุบันเงียบไปมาก ไม่ค่อยมีเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของภาคใต้เท่าที่ควร และที่มีอยู่ก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาคนจะออกไปทำงานนอกพื้นที่เยอะและในที่สุดก็จะประสบปัญหา” นายธนิต กล่าว

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลสัญจรลงพื้นที่ไปจังหวัดต่างๆ น่าจะเป็นผลดีทำให้แต่ละจังหวัดต้องมีความตื่นตัวอยู่ตลอด และสามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย โดยเฉพาะเอกชนในพื้นที่เอง เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดก็มีโอกาสเข้าถึงรัฐบาลโดยตรง แต่รัฐบาลจำเป็นต้องนำปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆ เข้ามาดำเนินการแก้ไขด้วย ไม่ใช่แค่ลงพื้นที่ไปรับฟังอย่างเดียว