posttoday

อุตฯให้นิคมฯส่งแบบสร้างเขื่อนในม.ค.นี้

12 มกราคม 2555

กระทรวงอุตฯตั้งเป้านิคมฯ ส่งแบบสร้างเขื่อนป้องกันน้ำภายในม.ค. ก่อสร้างเสร็จในเดือนส.ค.

กระทรวงอุตฯตั้งเป้านิคมฯ ส่งแบบสร้างเขื่อนป้องกันน้ำภายในม.ค. ก่อสร้างเสร็จในเดือนส.ค.

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำแผนการดำเนินงานสร้างเขื่อนป้องกันน้ำถาวร สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้ง 7 แห่ง โดยขณะนี้ได้มีการสรุปการออกแบบกลางเสร็จเรียบร้อยแล้ว และให้แต่ละนิคมฯ ไปออกแบบเขื่อนของแต่ละนิคมฯ มานำเสนอต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งจะเป็นผู้อนุมัติแบบก่อนที่ผู้ประกอบการจะนำแบบไปยื่นกู้เงินจากธนาคารออมสิน

ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานผู้ประกอบการจะต้องออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนม.ค. 2555 ยื่นเจรจาขอกู้เงินเดือนก.พ.-มี.ค. และดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จภายในเดือนส.ค. โดยนอกจากนิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วมแล้ว นิคมฯที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 3 แห่ง ได้แก่ นิคมฯลาดกระบัง นิคมฯ บางชัน และนิคมฯบางพลี ที่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนป้องกันน้ำถาวร ต้องดำเนินการขอกู้เงินตามแผนงานดังกล่าวด้วย

สำหรับแบบกลางกำหนดให้เขื่อนสามารถรองรับระดับน้ำได้ โดยดูจากสถิติความสูงของน้ำในช่วง 100 ปี ที่ผ่านมา เขื่อนมีระดับความสูงอย่างต่ำ 6.50 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งขณะนี้นิคมฯหลายแห่งอยู่ระหว่างการดำเนินการออกแบบใกล้เสร็จแล้ว และจะยื่นแบบให้กนอ.เซ็นรับรอง โดยทุกนิคมฯ เขตประกอบการ และสวนอุตสาหกรรมจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติแบบจากกนอ.ก่อน ถึงจะไปยื่นขอกู้เงินจากธนาคารออมสินได้

ขณะที่การกู้เงินจากธนาคารออมสินจะพิจารณาให้กู้ตามเงื่อนไขปกติ อัตราดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลา 7 ปี โดยธนาคารออมสินมีวงเงินกู้รวม 1.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าทั้ง 7 นิคมฯ น่าจะใช้วงเงินกู้รวมไม่ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท

"ภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้ จะเรียกผู้ประกอบการทั้งหมดมาหารืออีกครั้ง หลังจากทุกคนนิคมฯต้องยื่นส่งแบบแล้ว เพื่อดูว่าผู้ประกอบการรายใดมีความประสงค์จะกู้เงินจำนวนเท่าไหร่ หรือต้องการที่จะกู้เงินหรือไม่"นายวิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงจะเรียกผู้บริหารกระทรวง ที่ทำหน้าที่ดูแลฟื้นฟู และป้องกันนิคมฯ แต่ละแห่งมาติดตามผลงาน เพื่อดูว่าแต่ละนิคมฯ ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ และติดปัญหาในการดำเนินการอย่างไร เนื่องจากต้องการให้การสร้างเขื่อนเสร็จตามแผนที่กำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และรองรับฤดูฝนที่กำลังจะมาในปีนี้