posttoday

เอ็กโก้ดีเดย์เดินเครื่องโรงไฟฟ้าโซลาร์

22 ธันวาคม 2554

เอ็กโก้ ดีเดย์เดินเครื่อโรงไฟฟ้าลพบุรีโซลาร์ ป้อนเข้าระบบกำลังการผลิต 73 เมกะวัตต์

เอ็กโก้ ดีเดย์เดินเครื่อโรงไฟฟ้าลพบุรีโซลาร์ ป้อนเข้าระบบกำลังการผลิต 73 เมกะวัตต์

นายสหัส  ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า หรือ เอ็กโก้  เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้า ลพบุรี โซลาร์ ขนาด 73 เมกะวัตต์ ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แล้ว  ซึ่งถือเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากมีจำนวนแผงโซลาร์มากกว่า  5.2 แสนแผง โดยมีมูลค่าลงทุน8,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการช่วยประเทศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่า 1.3 ล้านตันตลอดอายุการดำเนินโครงการ 25 ปี และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้มากถึงปีละ 3.5 หมื่น ตัน  ขณะเดียวกันยังได้รับการรับรองการดำเนินโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (ซีดีเอ็ม) ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้านนายวรมน ขำขนิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ  ผู้บริหารโครงการลพบุรี โซลาร์ กล่าวว่า โครงการลพบุรีโซล่าร์เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนก.ค. 2553 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างจนถึงเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ราว 18 เดือน ดำเนินงาน โดยผู้เชี่ยวชาญและทีมงานกว่า 1,400 คน คิดเป็นชั่วโมงการทำงานมากกว่า 4 ล้านชั่วโมง โดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน

สำหรับแผนการเพิ่มกำลังการผลิตอีก 11  เมกะวัตต์ รวมเป็น 84 เมกะวัตต์ นั้น  อยู่ระหว่างการดำเนินงาน คาดว่า จะพัฒนาแล้วเสร็จ ในเดือนมิ.ย. 2555    รวมทั้งยังมีการก่อสร้างและพัฒนาพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนบนพื้นที่ 760  ตร.ม. เพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องแหล่งพลังงานธรรมชาติ และการท่องเที่ยว โดยกำหนดเปิดให้สาธารณชนเข้าเยี่ยมชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วงกลางปี 2555

อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าลพบุรี โซลาร์ ตั้งอยู่ที่ต.วังเพลิง อ.โคกสำโรง จ. ลพบุรีเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างเอ็กโก กรุ๊ป   CLP Thailand Renewable Limited ในเครือซีแอลพี  และ Diamond Generating Asia Limited ในเครือมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น  ในสัดส่วนการถือหุ้น 33.33 %   เท่ากัน โดยได้เซ็นสัญญาซื้อขายแผงโซล่าร์แบบฟิล์มบาง กับบริษัทชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น  และยังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ จำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงินในประเทศต่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารกสิกรไทย  ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์