posttoday

ปูย้ำจำนำข้าวอย่าทุจริต

06 ตุลาคม 2554

นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ มอบนโยบายรับจำนำข้าว ย้ำทุกฝ่ายต้องรัดกุมรอบคอบไม่ให้มีปัญหาทุจริต-สวมสิทธิ์

นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ มอบนโยบายรับจำนำข้าว ย้ำทุกฝ่ายต้องรัดกุมรอบคอบไม่ให้มีปัญหาทุจริต-สวมสิทธิ์

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานมอบนโยบายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา มาตรการหนึ่งในนั้นคือการนำระบบรับจำนำมาใช้กับสินค้าเกษตร เพราะหากเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงก็จะส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

เนื่องจากข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย โดยมีเกษตรผู้ปลูกข้าว 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 20 ล้านคน และเชื่อว่าราคารับจำนำที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ที่ 15,000 บาท/ตันสำหรับข้าวขาว และราคา 20,000 บาท/ตันสำหรับข้าวหอมมะลินั้นเป็นราคาที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการดำรงชีพของเกษตรกร

ทั้งนี้ รัฐบาลรับทราบและตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรับจำนำข้าว โดยรับฟังการท้วงติง ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจากการรับจำนำ รวมทั้งข้อชี้แนะจากทุกฝ่าย และนำมาปรับปรุงต่อยอดการทำงาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก แต่ก็ไม่ลืมที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ

ดังนั้น การรับจำนำข้าวที่กำลังจะเริ่มขึ้นในช่วงวันที่ 7 ต.ค.54-29 ก.พ.55 จึงขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายรับจำนำข้าว วางระบบ และตรวจสอบ สอดส่งดูแลทุกขั้นตอนให้รัดกุม รอบคอบ และมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม

"การประชุมในวันนี้จึงเป็นการซักซ้อมความเข้าใจกับทุกฝ่าย เพื่อให้แนวปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน บรรลุเป้าหมายร่วมกัน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้การดำเนินนโยบายนี้สำเร็จคือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นอนุกรรมการของโครงการ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบ ดูแล ปรับปรุง ป้องกันการทุจริต ป้องกันความเสี่ยง ป้องกันไม่ให้เกิดการสวมสิทธิ์ ไม่ให้มีการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ป้องกันไม่ให้เกิดการเวียนเทียนข้าวในระบบ เอาเปรียบเกษตรกร ต้องวางระบบให้รอบคอบในทุกขั้นตอน ตรวจสอบทุกอย่างอย่างเคร่งครัด กำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละจุดแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน

รวมถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียน การออกหนังสือรับรองต้องมีความถูกต้องชัดเจน เกษตรกรต้องเพาะปลูกจริง เก็บเกี่ยวจริง ส่วนเรื่องการส่งออกเพื่อระบายข้าวนั้น รัฐบาลจะประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องและผู้ส่งออก

"โครงการนี้ถ้าพร้อมใจทำกันทั่วประเทศ ร่วมมือกันทุกฝ่าย สิ่งที่กังวลกันว่าจะเกิดการทุจริตนั้นก็จะไม่เปิดเป็นปัญหา โรงสีก็ต้องไม่เอาเปรียบเกษตรกร" นายกรัฐมนตรี กล่าว