posttoday

สั่งตรวจเข้มโรงงงานหวั่นลักปล่อยน้ำเสีย

13 กันยายน 2554

"วิฑูรย์" สั่งเข้มอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานในพื้นที่น้ำท่วม หวั่นผู้ประกอบการลักปล่อยน้ำเสีย

"วิฑูรย์" สั่งเข้มอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานในพื้นที่น้ำท่วม หวั่นผู้ประกอบการลักปล่อยน้ำเสีย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดดูแลโรงงานที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างเร่งด่วน โดยให้รวบรวมจำนวนโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมเข้ามาภายในวันที่ 16 ก.ย.นี้ รวมทั้งให้ตรวจสอบดูแลโรงงานที่แอบลักลอบปล่อยน้ำเสีย และกากขยะอุตสาหกรรมโดยใช้โอกาสจากน้ำท่วมปล่อยของเสียออกมา ซึ่งที่ผ่านมาเคยจับได้หลายรายแล้ว

สั่งตรวจเข้มโรงงงานหวั่นลักปล่อยน้ำเสีย

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการถือโอกาสจากน้ำท่วมปล่อยน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำสียออกมาปนในน้ำท่วม จะสังเกตได้จากสี และกลิ่นของน้ำ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่หากน้ำท่วมขัง จึงให้อุตสาหกรรมเข้าดูแลอย่างเข้มงวด โดยดูว่าหากน้ำยังท่วมไม่ถึงปากบ่อน้ำเสีย และแอบปล่อยออกมาจะมีความผิด โดยจะให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.กรมโรงงาน มาตรา 37 แต่หากน้ำท่วมเข้าไปปะปนกับน้ำเสียในบ่อบำบัดแล้ว ถือเป็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ประกอบการไม่ได้ตั้งใจ

ขณะที่กากขยะอุตสาหกรรมจะเป็นเรื่องอันตรายมาก หากเป็นขยะที่เป็นพิษ ซึ่งโดยปกติกากขยะประเภทนี้จะถูกจัดเก็บไว้ในพื้นที่ปลอดภัย แต่ผู้ประกอบการอาจอ้างว่าขยะหลุดลอยไประหว่างการขนย้าย หรืออยู่ในช่วงที่กองขยะไว้ในที่โล่งรอการขนย้าย เมื่อน้ำท่วมขยะเหล่านั้นจึงหลุดลอยออกไปตามกระแสน้ำ

“ถ้าโรงงานน้ำท่วมถึงก็ควรหยุดประกอบกิจการ ไม่ใช่ยังประกอบกิจการขณะที่น้ำท่วม ซึ่งหากเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ ก็ยอมรับได้ แต่ก็มีบางพวกชอบสวมรอย จึงให้อุตสาหกรรมเร่งดูแลอย่างเต็มที่”นายวิฑูรย์กล่าว

ขณะเดียวกันยังให้อุตสาหกรรมจังหวัดเร่งสำรวจโรงงานที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อที่จะได้เข้าช่วยเหลือ โดยจะจัดคลินิกอุตสาหกรรม เข้าไปช่วยซ่อมแซมโรงงาน หรือเครื่องจักร แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงจะใช้มาตรการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงงานรายปีให้แก่โรงงานที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนที่เกิดขึ้น โดยขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเพื่อจะได้เริ่มต้นทำงานทันทีหลังน้ำลด

นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายอุตสาหกรรมจังหวัดจำนวน 3 ข้อ ได้แก่ 1.เร่งดำเนินการตามกฎหมายในเชิงรุก โดยเฉพาะการดูแลโรงงานที่ทำผิดกฎหมาย หากสั่งให้มีการดำเนินการตามมาตรา 37 คือ ปรับปรุงส่วนที่กระทำผิดแล้ว หากโรงงานดำเนินการไม่เสร็จให้สามารถขอขยายระยะเวลาได้ 2 ครั้ง หากยังปรับปรุงแก้ไขไม่เสร็จจะถูกดำเนินการตามมาตรา 39 คือให้หยุดกิจการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จ ไม่ใช่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาออกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

2. การตรวจสอบกากอุตสาหกรรมขอให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะตอนนี้ยังมีการลักลอบนำไปทิ้งอยู่ โดยขณะนี้มี 34 จังหวัด ที่สามารถทำให้กากอุตสาหกรรมเข้าระบบได้ 100% แล้ว ส่วนจังหวัดที่เหลือให้เร่งรัดให้เข้าระบบได้ 100% ภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อจะนำมาสรุประบบว่าจะเป็นต้องแกไขในจุดใดบ้าง

3. ให้อุตสาหกรรมจังหวัดหาสินค้าเกษตรยอดเยี่ยม (โปรดักส์แชมเปี้ยน) ของแต่ละจังหวัดมาจังหวัดละ 2 สินค้า โดยให้เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำมาเสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในท้องถิ่น ช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่

4. ให้อุตสาหกรรมจังหวัด หาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อจัดตั้งเป็นสวนอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบอุตสาหกรรมใหม่  โดยส่งเสริมให้โรงงานเข้าไปตั้งในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสะดวกต่อการดูแล