posttoday

พาณิชย์ห้าม2บริษัทส่งออกสุกรไปเขมร

21 กรกฎาคม 2554

กรมการค้าภายในห้าม2บริษัทในฉะเชิงเทราส่งออกสุกรไปประเทศเพื่อนบ้านหลังพบยอดส่งออกผิดปกติ

กรมการค้าภายในห้าม2บริษัทในฉะเชิงเทราส่งออกสุกรไปประเทศเพื่อนบ้านหลังพบยอดส่งออกผิดปกติ

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการติดตามการขนย้ายสุกรมีชีวิตใน 24 จังหวัดที่ออกประกาศห้ามขนย้ายก่อนได้รับอนุญาตช่วง วันที่ 5-14 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในจังหวัดฉะเชิงเทรามีการออกหนังสืออนุญาตขนย้ายสุกรไปประเทศกัมพูชาแก่ 3 บริษัทสูงเกินปกติ โดยเฉพาะหจก.บิ๊กพิกเทรดดิ้ง มีการออกหนังสืออนุญาตขนย้ายปีนี้แล้ว 1,240 ตัว สูงกว่าปีที่แล้วที่ส่งออกทั้งปี 1,000 ตัว และบจก.ตะวันออกพิกฟู๊ด มีการออกหนังสืออนุญาตขนย้ายแล้ว 2,600 ตัว เท่ากับปริมาณการส่งออกตลอดทั้งปีที่แล้ว จึงเห็นว่าไม่สมควรอนุญาตให้ทั้ง 2 บริษัทขนย้ายอีก ขณะที่บจก.ไทยบูรพาเทรดดิ้ง ได้ออกหนังสืออนุญาตขนย้ายแล้ว  6,465 ตัว จึงยังสามารถขนย้ายเพิ่มได้อีก 1,616 ตัวเท่านั้น
 
“ที่ผ่านมาได้สั่งให้ค้าภายในทั้ง 24 จังหวัดที่มีอาณาเขตติดชายแดน ไม่ให้ออกใบอนุญาตขนย้ายสุกรไปต่างประเทศเกินกว่าปริมาณที่เคยส่งออกในปี 53 ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาปริมาณเนื้อหมูตึงตัว และราคาแพง หลังจากพบว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายได้ส่งออกหมูไปประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมาก จนทำให้ราคาหมูในประเทศราคาแพง และประชาชนได้รับความเดือดร้อน”
 
นางวัชรีกล่าวว่า กรมฯ จะเร่งติดตามการขนย้ายสุกรเพื่อแก้ปัญหาเนื้อหมูแพงอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนพบเห็นการขนย้ายสุกรมีชีวิตที่ไม่ถูกต้อง แจ้งที่สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ ผู้ขนย้ายโดยไม่ขออนุญาตจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
สำหรับการออกประกาศ เรื่อง การควบคุมการขนย้ายสุกรมีชีวิต ปี 2554 ได้ใช้อำนาจจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อดูแลปริมาณสุกรให้มีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและมีราคาอยู่ในระดับเหมาะสม โดยห้ามมิให้บุคคลใดขนย้ายสุกรมีชีวิตที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 80 กก.ต่อหนึ่งตัวขึ้นไป และมีจำนวนการขนย้ายครั้งละตั้งแต่ 10 ตัวขึ้นไป ทั้งทางบกหรือทางทะเลเข้ามาหรือออกจากท้องที่ 24 จังหวัด 100 อำเภอ ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม หนองคาย บึงกาฬ เลย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ น่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรีและเพชรบุรี
 
นางวัชรี กล่าวถึงสถานการณ์จำหน่ายข้าวถุงว่า ข้าวถุงเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งทางกรมฯ ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการแจ้งราคาจำหน่ายก่อนมีการเปลี่ยนแปลงราคาทุกครั้ง เพื่อให้วิเคราะห์ความเหมาะสมของราคาก่อนนำสินค้าไปจำหน่าย แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจะเพิ่มมาตรการดูแล โดยเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พิจารณากำหนดมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น
 
“ในการหารือกับผู้ผลิตข้าวถุงและโรงสีในช่วงที่ผ่านมา ราคาต้นทุนข้าวสารยังไม่ได้ปรับขึ้นมากจนกระทบต่อราคาขายปลีกข้าวถุง ดังนั้นประชาชนจึงอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกลัวว่าข้าวจะขาดแคลน เพราะผลผลิตข้าวของไทยมีมากเพียงพอ โดยใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีข้าวนาปรังออกมาอีก 2 ล้านตัน และข้าวนาปีในช่วงปลายเดือน ต.ค.อีก 20-22 ล้านตัน”นางวัชรีกล่าว