posttoday

ลงทุนอย่างพอเพียง

30 ตุลาคม 2560

โดย...เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดย...เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยได้ผ่านช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด คือการร่วมแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ โดยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระราชกรณียกิจที่สร้างรากฐานความยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยมีมากมาย โดยเฉพาะหลักปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์เป็นทั้งผู้ให้ความรู้และทรงเป็นแบบอย่างการทรงงานที่คงจะกล่าวได้ว่าเป็นแม่แบบของความยั่งยืนอย่างแท้จริง ที่ใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชน รวมถึงการนำไปใช้ในการปฏิบัติงานของภาคเอกชน และการบริหารพัฒนาประเทศให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

หลักการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัทเอกชน และในชีวิตประจำวันได้ ดิฉันเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านอยู่ในรุ่นที่ผ่านวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เริ่มต้นจากประเทศไทยและลุกลามไปยังประเทศเอเชียอื่น 

จนกระทั่งรัฐบาลไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นที่มาของการล่มสลายของสถาบันการเงินหลายแห่ง การปิดตัวของบริษัทเอกชน ลูกจ้างมืออาชีพต้องถูกออกจากงาน ภาวะเปิดท้ายรถขายของของคนเคยรวย ภาวะความฟุ้งเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว การกู้เงินอนาคตมาใช้อย่างไม่ระมัดระวัง และไม่สามารถที่จะใช้คืนได้อย่างเพียงพอ โดยผลจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้น สถานะคงค้างของหนี้สินที่เกิดจากการเข้าช่วยเหลือภาคการเงินของประเทศไทยขณะนั้นยังคงเป็นภาระที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดูแลกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มุ่งนำแนวทางสำคัญในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันควบคู่กับการมีความรู้และคุณธรรม มาเชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจ พัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างเข้มแข็งในทุกมิติ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ โดยตัวอย่างที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินงานของบริษัท เช่น การขยายกิจการในแต่ละโครงการที่ต้องคำนึงถึงขนาดของการลงทุน แหล่งที่มาของเงินลงทุน และผลตอบแทนหรือผลลัพธ์และระดับของความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งต้องมีทั้งความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม ในการบริหารจัดการโครงการนั้น

หลักการข้างต้นเป็นหลักแห่งความเป็นจริงและเป็นหลักการที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในที่สุดตัวอย่างที่อาจกล่าวได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในรอบ2 ทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ บริษัทจดทะเบียนของไทยนั้นมีความเข้มแข็งมากขึ้น อัตราหนี้สินต่อทุนโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำที่ 1.2 เท่า มีการดำเนินงานด้านบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ดังจะเห็นได้จากการมี 17 บริษัทจดทะเบียนที่เป็นสมาชิกของดัชนี DJSI (Dow Jones Sustainability Index)

ตลท.ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงาน ทั้งการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืน สร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ลงทุนอย่างโปร่งใสมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเริ่มจากหลักของการบริหารจัดการและการเปิดเผยข้อมูลที่ดีคำนึงถึงบรรษัทภิบาล การดำเนินงานเป็นไปโดยใช้หลักพอประมาณ โดยคำนึงถึงความพร้อมของอุตสาหกรรม พร้อมกับการทำความเข้าใจ การให้ความรู้ และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม

อีกทั้งมีการสนับสนุนในการให้รางวัลแก่องค์กรที่สามารถดำเนินการได้ดีและสามารถเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรอื่นได้ การทำงานที่ใช้ระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้เป็นความร่วมมือของบริษัทจดทะเบียน หน่วยงานต่างๆ ในตลาดทุนไทยที่มุ่งมั่นไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ผลลัพธ์ที่อาจวัดได้จากองค์กรในต่างประเทศ จึงพบว่าคะแนนด้านบรรษัทภิบาลของประเทศไทยนั้น อยู่ในระดับที่ดีและเป็นอันดับที่สูงที่สุดในอาเซียนติดต่อกันในหลายปีที่ผ่านมา และรายงานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก 55 แห่ง ในงานวิจัย “Measuring Sustainability Disclosure 2017” โดย Corporate Knights ที่จัดให้ตลาดหุ้นไทยติดอันดับ 10 และเป็นตลาดหลักทรัพย์เอเชียรายเดียวที่ติดใน 10 อันดับแรกของโลก

เป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่ม 10 อันดับแรกนี้ SETเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จากปี 2556 ที่อันดับ 40 ,27 (2557), 17 (2558), 13 (2559) ตามลำดับ ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2554 โดยวัดจาก 3 ด้านหลักๆ คือ 1) ข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เปิดเผย 2) พัฒนาการความก้าวหน้าของข้อมูลที่เปิดเผย และ 3) ความรวดเร็วในการเปิดเผยข้อมูล

นอกจากนี้ ตลท.ยังมุ่งส่งเสริมความรู้พื้นฐานในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถวางแผนการเงินของตนเองและของครอบครัว เราจะนำหลักความพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตนั้น คงต้องมาพิจารณาว่าสำหรับแต่ละคนความพอเพียงอยู่จุดใดจำเป็นต้องมีการปรับตัวเอง แนวคิด เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ปรับพฤติกรรมอย่างไรหรือไม่ เพื่อให้ไปสู่จุดที่เรียกว่า พอเพียงและพอดี