posttoday

ลดหย่อนประกันสุขภาพ ใครได้ประโยชน์ (จบ)

12 ตุลาคม 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

จากบทความ 2 ตอนที่แล้ว ซึ่งผมได้ปูพื้นให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของฐานประชากรไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งกลุ่มโรงพยาบาลที่จะได้รับประโยชน์จากฐานอายุของประชากรไทยที่สูงขึ้น และจำนวนชาวต่างชาติที่มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทีนี้เรามาเข้าเรื่องตามชื่อบทความ “ลดหย่อนประกันสุขภาพ ใครได้ประโยชน์” กันครับ จากการที่กรมสรรพากรอนุญาตให้ผู้เสียภาษี ที่ซื้อประกันสุขภาพสามารถนำเบี้ยดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้เพียง 1.5 หมื่นบาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้ว ก็จะลดหย่อนมากสุดได้แค่ 1 แสนบาทเท่าเดิม ไม่ได้ให้สิทธิในการลดหย่อนเพิ่มขึ้น

เพียงแต่ว่าสามารถที่จะนำเบี้ยประกันสุขภาพจำนวนดังกล่าวมารวมกับเบี้ยประกันชีวิตได้ ซึ่งแต่เดิมจะสามารถนำเพียงแต่เบี้ยประกันชีวิตมาลดหย่อนได้เท่านั้น ดังนั้นธุรกิจประกันชีวิตทั้งหลาย ก็คงจะต้องอกหักไปตามๆ กัน จากการที่คาดหวังว่าจะสามารถขายประกันสุขภาพได้เพิ่มเติมจากคนที่ทำประกันชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งโดยปกติเบี้ยประกันสุขภาพจะมีกำไรในอัตราที่ต่ำกว่าเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งจะเห็นได้จากค่าคอมมิชชั่นของยอดขายประกันสุขภาพ ที่บริษัทประกันชีวิตให้กับตัวแทนประกันชีวิต อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่ายอดขายประกันชีวิต รวมทั้งผู้ที่จะซื้อประกันสุขภาพจะต้องเป็นลูกค้าที่ซื้อประกันชีวิตอยู่ก่อนแล้ว ถึงจะมีสิทธิซื้อได้

ดังนั้น ถ้าลูกค้าบริษัทประกันชีวิตนำจำนวนเงินที่จะซื้อประกันชีวิตมาซื้อประกันสุขภาพ โดยไม่เพิ่มเม็ดเงินที่มากขึ้น ก็น่าจะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการทำกำไรที่ลดลง แต่ธุรกิจที่เน้นขายประกันสุขภาพโดยตรง อย่างเช่น บูพา น่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีครั้งนี้เป็นอย่างมาก เรียกว่างานนี้ส้มหล่นจริงๆ เสียดายที่ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มิฉะนั้นผมคงจะต้องรีบเข้าไปซื้อเสียแล้ว ทีนี้มาดูกันครับว่าเบี้ยประกันสุขภาพ 1.5 หมื่นบาทสำหรับคนที่มีอายุไม่เกิน 30 ปีจะคุ้มครองอะไรกันบ้าง

ค่าห้องและการพยาบาลสูงสุดต่อวัน 4,000 บาท

ค่าห้องไอซียูและการพยาบาลสูงสุดต่อวัน 8,000 บาท

ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป ตามจริง*

ค่าธรรมเนียมแพทย์ผ่าตัด ตามจริง*

ค่าแพทย์เยี่ยมไข้ ตามจริง*

การรักษาพยาบาลฉุกเฉินแบบคนไข้นอก (กรณีอุบัติเหตุรักษาตัวภายใน 24 ชั่วโมง) ตามจริง* ประกันอุบัติเหตุ (อ.บ.2) 1 แสนบาท รวมแล้วความคุ้มครองสูงสุด (สูงสุดต่อปี) 7.5 แสนบาท รวมทั้งความคุ้มครองกรณีผู้ป่วยนอก ได้แก่ ค่าปรึกษาแพทย์ ค่ายา ค่าเอกซเรย์และค่าตรวจในห้องแล็บ (สูงสุดไม่เกิน 1 ครั้ง/วัน และ 30 ครั้ง/ปี)

เมื่อดูตามความคุ้มครองข้างบนนี้แล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มโรงพยาบาลที่จะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากมาตรการลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพนี้ คงต้องเป็นกลุ่มโรงพยาบาลระดับกลางถึงล่างเท่านั้น เพราะว่าค่าบริการและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลระดับบนสูงเกินกว่าความคุ้มครองที่จะได้จากเบี้ยประกันในระดับนี้

ดังนั้น คนที่เคยซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งต้องการความคุ้มครองในระดับสูง คงแทบจะไม่เห็นประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว หรืออาจจะมีบ้างที่นำเงินทีจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ซึ่งเคยจ่ายอยู่แล้วทุกปี มาใช้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี แต่จะมีกลุ่มผู้ที่ไม่เคยซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นฐานของคนกลุ่มใหญ่ หรือผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพในระดับความคุ้มครองปานกลางอยู่แล้ว จะอาศัยมาตรการนี้เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีน้อยลงเพิ่มขึ้น

ผมเองก็สนับสนุนมาตรการของกรมสรรพากรในครั้งนี้ เพื่อช่วยให้ชนชั้นกลางมีหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ไม่ต้องเป็นห่วงคนที่รวยกันอยู่แล้ว เพราะกลุ่มนั้นเขามีกำลังซื้อที่สูง

ถ้าผมเป็นผู้บริหารของกลุ่มโรงพยาบาลระดับกลาง ช่วงนี้ผมคงจะต้องเร่งรีบเข้าพบบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันสุขภาพต่างๆ เพื่อนำเสนอโครงการคุ้มครองสุขภาพให้กับผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเหล่านี้ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้สามารถที่จะออกแบบเบี้ยประกันสุขภาพทันกับแรงซื้อที่จะเกิดขึ้นจากผู้ซื้อประกันสุขภาพ เพื่อหวังลดหย่อนภาษีให้ทันภายในปีนี้ เพราะว่าอัตรากำไรที่โรงพยาบาลจะได้รับ ย่อมต้องสูงกว่าอัตรากำไรที่โรงพยาบาลได้จากโครงการประกันสังคมแน่นอน ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรโดยเฉลี่ยของโรงพยาบาลสูงขึ้น ยิ่งถ้าโรงพยาบาลระดับกลาง ที่มีโรงพยาบาลในเครือหลายแห่ง ย่อมต้องได้เปรียบกว่าโรงพยาบาลเดี่ยว เพราะลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการได้สะดวกกว่า รวมทั้งสามารถส่งผู้ป่วยที่มีเคสซับซ้อน ไปทำการรักษาในศูนย์การแพทย์ต่างๆ ที่อยู่ในเครือโรงพยาบาลเดียวกัน

นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคงจะต้องเลือกดูว่า กลุ่มโรงพยาบาลไหนที่จะได้ประโยชน์ ตามที่ผมได้เขียนมาข้างต้น จากมาตรการลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพครั้งนี้ แล้ววิเคราะห์ดูให้ดีนะครับ เพราะว่าสัดส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) ของกลุ่มโรงพยาบาลนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับพี/อีของตลาดหลักทรัพย์

ดังนั้น ต้องทำการบ้านให้ดี แล้วหาหุ้นที่มีความเหมาะสมในการลงทุนกัน เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุดครับ