posttoday

กลยุทธ์การลงทุนในโค้งสุดท้ายของปี 2560

10 ตุลาคม 2560

โดย...ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บล.ภัทร

โดย...ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร CIO, Kiatnakin Phatra Financial Group

หลังจากผ่านความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ มาตั้งแต่ต้นปี ก็เดินทางเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 สามไตรมาสแรกของปีเป็นช่วงเวลาที่ดีมากสำหรับการลงทุน ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนกว่า 17% ส่วนตลาดหุ้นไทยก็ให้ผลตอบแทนเกือบ 10%

ในภาพรวมคิดว่าในไตรมาส 4 นี้ ก็ยังมีปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้ตลาดปรับขึ้นได้ แต่ก็มีประเด็นที่ต้องระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในภาวะเช่นนี้แนะนำให้นักลงทุนตรวจสอบความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและขายทำกำไรหุ้นบางส่วน เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของนักลงทุนปัจจัยบวก

ประการแรก เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการล้วนแต่ออกมาดีขึ้น ซึ่งช่วยผลักดันให้การค้ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องมาถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน การส่งออกของไทยก็พลอยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

ประการที่สอง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป ในขณะที่ตลาดมีสภาพคล่องสูง ถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณการฟื้นตัว แต่ตัวเลขเงินเฟ้อกลับต่ำกว่าคาด อัตราดอกเบี้ยก็น่าจะคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป (แม้มีโอกาสปรับขึ้นได้) ภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและสภาพคล่องมีอยู่มาก นับว่าเป็นภาวะที่เอื้อต่อการลงทุน

ประการที่สาม การปฏิรูประบบภาษีของสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ตลาดจับตารอดู หากสามารถลดภาษีเงินได้นิติบุคคลได้จริง ผลกำไรหลังหักภาษีของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และจะส่งผลดีต่อมูลค่าของตลาด อีกทั้งยังจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ และผลักดันผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แผนการปฏิรูปดังกล่าวก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยที่นักลงทุนควรระมัดระวังเนื่องจากอาจจะทำให้ตลาดปรับลดลงแรงได้

ปัจจัยแรก มูลค่าของตลาดหุ้นอยู่ในระดับค่อนข้างตึง ถึงแม้ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะออกมาดีกว่าคาดและตัวเลขเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณการฟื้นตัว แต่คิดว่าตลาดได้สะท้อนปัจจัยเหล่านี้ไปแล้ว หากผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่คาด หรืออัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นแรง ก็อาจจะทำให้เกิดแรงเทขายออกมาได้

ปัจจัยที่สอง การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินจากอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอี มาเป็นการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เรียกว่า Qualitative Tightening หรือ QT ซึ่งความเสี่ยงก็คืออัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด

ปัจจัยที่สาม ความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองและภูมิศาสตร์การเมืองที่สร้างความกังวลมากขึ้นในหลายๆ ภูมิภาค ทั้งกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ กระแสต่อต้านผู้อพยพ แนวคิดแบบชาตินิยมขวาจัด ตลอดจนปัญหาการก่อการร้าย และล่าสุดก็คือความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาดูต่อไป

บล.ภัทร ยังคงแนะนำให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมีระดับความเสี่ยงของการลงทุนในระดับที่เหมาะสม หลังจากที่ตลาดปรับขึ้นมาแล้ว เราแนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนและพิจารณาขายทำกำไรออกมาบางส่วน เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับที่นักลงทุนยอมรับได้

บล.ภัทร ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย (SET) ณ สิ้นปี เป็น 1,700 จุด เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มดีขึ้น และมีแรงผลักดันจากสภาพคล่องภายในประเทศ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นในดัชนี SET50/SET100 (โดยเฉพาะบริษัทที่ได้รับผลดีจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นมา อย่างเช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มอาหาร กลุ่มวัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มพาณิชย์)

ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนปกติ สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวม แต่ในขณะเดียวกันก็ให้น้ำหนักมากกว่าตลาด สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เราแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุไม่ยาวมากนัก จากความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย

นอกจากนี้ แนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลงมาเล็กน้อย เพื่อรับผลดีจากการปรับขึ้นของราคา และเพิ่มสัดส่วนการถือเงินสดเพื่อเตรียมรับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น