posttoday

ลดหย่อนประกันสุขภาพ ใครได้ประโยชน์ (2)

04 ตุลาคม 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

จากบทความตอนที่ 1 ซึ่งผมได้ปูพื้นให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของฐานประชากรไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ต่ำมาก และฐานอายุของคนไทยที่สูงขึ้นทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีฐานประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในอาเซียน ใกล้เคียงสิงคโปร์ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือวัยแรงงานที่ลดลง

รัฐบาลเห็นปัญหานี้มานานแล้วและได้มีมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อจูงใจให้กับผู้เสียภาษีนำเงินที่ซื้อประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษีได้ปีละ 1 แสนบาท อนุญาตให้ผู้เสียภาษีที่ซื้อประกันสุขภาพนำเบี้ยดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้ว ก็ลดหย่อนมากสุดได้แค่ 1 แสนบาท จากครั้งแรกที่คาดกันว่า รัฐจะอนุญาตให้ผู้เสียภาษีที่ซื้อประกันชีวิตในวงเงิน 3-5 หมื่นบาท มาลดหย่อนภาษีได้ต่างหากจากเบี้ยประกันชีวิตที่ลดหย่อนได้อยู่แล้วที่ 1 แสนบาทในแต่ละปี

ค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนได้สูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามีบริการที่ดีขึ้น มาตรฐานรับรองโรงพยาบาลสากล จำนวนโรงพยาบาลไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล JCI มีถึง 45 แห่ง โดย JCI เป็นองค์กรอิสระจากอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล รับรองคุณภาพสถานพยาบาล ว่าได้มาตรฐาน มีคุณภาพดี เปรียบเทียบก็คล้ายกับมาตรฐาน ISO ตามโรงงาน โรงพยาบาลไหนผ่านมาตรฐาน JCI ได้ จะสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษา โดยไทยติด 1 ใน 5 ของโลก ที่มีสถานพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐานสากล JCI มากที่สุด

ดังนั้น จึงเห็นคนไข้ต่างชาติเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลไทยมาก ทำให้อัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากมาตรฐานที่ดีขึ้น และการที่หลายโรงพยาบาลเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งปัจจุบันมีถึง 19 บริษัท ที่ใช้คำว่าบริษัทก็เพราะว่าทางบริษัทมีโรงพยาบาลในเครือ และบางเครือมีโรงพยาบาลมากกว่า 30 แห่ง กลายเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่ใหญ่มากในระดับภูมิภาค บริษัทเหล่านี้พยายามสร้างกำไรให้เป็นที่พอใจกับผู้ถือหุ้น

จำนวนคนต่างชาติที่เชี่ยวชาญ ที่เข้ามาทำงานในไทย ที่มีใบอนุญาตทำงาน หรือที่นิยมเรียกว่า EXPAT ที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนล่าสุดอยู่ที่ 84,387 คน เป็นตัวเลข ณ ไตรมาส 2 ปี 2559 โดยคนญี่ปุ่นครองสัดส่วนสูงสุดถึง 22% (ข้อมูลจาก : CBRE) โดยไม่กี่ปีนี้ คนจีนเริ่มมีมากขึ้น คิดเป็น 13% ของ EXPAT ทั้งหมด ซึ่งตัวเลขของคนจีนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว เทียบกับอดีต โดย EXPAT ส่วนใหญ่จะพักอาศัยบริเวณสุขุมวิทซอย 1-ซอย 63 สำหรับซอยเลขคี่ และซอย 2 ถึงซอย 42 สำหรับซอยเลขคู่ คนกลุ่มนี้รวมทั้งคนไทยที่อยู่ในย่านนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ต้องการได้รับบริการทางด้านรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานสูง

โรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI ที่อยู่ในย่านดังกล่าว จึงเป็นโรงพยาบาลที่มีลูกค้าในกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีบางโรงพยาบาลก็จดทะเบียนอยู่ใน SET ยิ่งเมกะเทรนด์ของการลงทุนในไทย ที่มีฐานอายุของประชากรที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ย่อมต้องมีกลุ่มโรงพยาบาลอยู่ในนั้นด้วย และสัดส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) ที่ 30-40 เท่าที่นักลงทุนให้กับกลุ่มโรงพยาบาล ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของพี/อี กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่พี/อี เฉลี่ย 16 เท่าเท่านั้น

กลุ่มโรงพยาบาลเข้ามาจดทะเบียนใน SET เพิ่มขึ้นมีอีก 2 3 โรงพยาบาลที่อยู่ในขั้นตอนยื่นแบบแสดงรายการ(ไฟลิ่ง) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเห็นแนวโน้มของการควบรวมโรงพยาบาลมากขึ้น ยังไม่นับโรงพยาบาลไทยบางแห่งซึ่งขยายสาขาไปยังต่างประเทศอีกด้วย