posttoday

ถึงเวลาซื้อหุ้นประกันชีวิตกันแล้ว

09 สิงหาคม 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

ผมจำได้ว่าเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่ผมเริ่มสนใจธุรกิจประกันชีวิตจากการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่ง ซึ่งได้สัมภาษณ์นายกสมาคมประกันชีวิตว่า ในช่วงเวลานั้นมีคนไทยเพียง 17% ที่ทำประกันชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยจนน่าตกใจมาก ความที่ผมเป็นคนซอกแซกก็เลยไปกูเกิลดูว่า แล้วคนชาติอื่นในเอเชียเขาทำประกันชีวิตกันคิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากร โดยเริ่มจากประเทศญี่ปุ่นก่อน ในฐานะเป็นประเทศที่ผมชอบมากประเทศหนึ่ง ก็พบว่าคนญี่ปุ่นทำประกันชีวิตกันมากกว่า 100%

ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่ามีหลายคนที่ทำประกันชีวิตมากกว่า1 กรมธรรม์ ทำให้ผมเห็นโอกาสของธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย น่าจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อย้อนกลับไปดูการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตในประเทศไทยจัดเก็บเป็นตัวเลข 2 หลักมาตลอด ในระยะ 5 ปีย้อนหลัง ซ้ำยังมีการเติบโตเป็น 3 ถึง 5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ นับว่าเป็นธุรกิจที่ดีกว่าธุรกิจอื่น

รัฐก็เห็นประโยชน์ของการทำประกันชีวิต จะเห็นได้ว่า มีการออกมาตรการส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตมาโดยตลอด โดยให้ผู้ซื้อประกันชีวิตสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระแก่บริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาตลอด โดยปัจจุบันผู้ซื้อประกันชีวิตสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ปีละ 1 แสนบาท (แต่เดิมเบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาท)

ต่อมาในปี 2545 ปรับเพิ่มเป็น 5 หมื่นบาท แล้วมาเพิ่มเป็น 1 แสนบาท/ปีในภายหลัง) และถ้าซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกปีละ 2 แสนบาท ต้องเป็น 3 แสนบาท (แต่ยังไม่อนุญาตให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้) นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมค้นพบหุ้นพลิกชีวิตของผมบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) หรือไทยพาณิชย์นิวยอร์กไลฟ์ประกันชีวิต (SCNYL) (ชื่อในสมัยนั้น) ที่สร้างผลตอบแทนให้ผมถึง 1,800% ภายในเวลา 7-8 ปี โดยธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้ทำการนำ SCBLIF ออกจากตลาดไปเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว

ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตไทยปี 2559 มีเบี้ยประกันชีวิตรวมทั้งสิ้น 568,260.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตถึง 5.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ จำนวน 161,568.8 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป 406,691.6 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 84% เบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ จะประกอบด้วย (1) เบี้ยประกันชีวิตปีแรก มีจำนวน 110,196.0 ล้านบาท (2) เบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว จำนวน 51,372.8 ล้านบาท (ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ล่าสุด มีข่าวว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ได้ให้นโยบายแก่กรมสรรพากรเพื่อพิจารณาเรื่องการให้ประชาชนประกันสุขภาพ และสามารถนำค่าเบี้ยประกันดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยยังไม่กำหนดตัวเลขที่แน่นอน แต่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท/ปี

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระค่ารักษาพยาบาลของบัตรทองและประกันสังคมให้ลดลง ยิ่งปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าในขณะนี้มีคนไทยมากกว่า 13% ที่มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งจะส่งผลให้สามารถประหยัดงบประมาณของประเทศได้มากขึ้น โดยทางกรมสรรพากรก็เห็นด้วยกับหลักการ เพราะว่าเป็นมาตรการที่จะยังประโยชน์ให้กับหลายฝ่าย ทั้งผู้ทำประกัน บริษัทประกัน และรัฐบาล ตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2559 จำนวนเปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ทำประกันชีวิต = 38% (สมมติว่าในตัวเลขนี้คนไทยทำประกันชีวิตคนละ 1 กรมธรรม์) จากจำนวนประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน (ข้อมูล : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล)

นั่นหมายความว่า มีคนไทยที่ทำประกันชีวิตประมาณ 25.10 ล้านคน ถ้าคนไทยจำนวนนี้ ซื้อเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อหวังลดหย่อนภาษี สัก 20% (ไม่นับคนที่ซื้อประกันสุขภาพก่อนหน้านี้แล้ว) เท่ากับว่าจะมีคนไทย 5.02 ล้านคนที่จะซื้อประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น แล้วสมมติต่อไปอีกว่า คนจำนวนนี้จะซื้อประกันสุขภาพเฉลี่ยคนละ 2.5 หมื่นบาท (ถึงแม้ว่าถ้าประกาศออกมาแล้วว่า สามารถนำมาลดหย่อนได้เพียง 1.5 หมื่นบาทก็ตาม

แต่เชื่อว่าบริษัทประกันทั้งหลาย คงจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประกันสุขภาพ ให้เห็นถึงประโยชน์ในการทำประกันสุขภาพ ถ้าจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้น จะได้รับการชดเชย ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องพักผู้ป่วย ค่าห้องผ่าตัด ฯลฯ ในอัตราที่สูงขึ้น ยิ่งปัจจุบันนี้ค่าใช้จ่ายทางด้านการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลเอกชนสูงขึ้นมาก คงจะมีผู้ซื้อประกันสุขภาพหลายคน ยอมจ่ายเงินที่สูงกว่าจำนวนเงินที่สามารถจะนำมาลดหย่อนภาษีได้)

นั่นหมายความว่าตัวเลขเบี้ยประกันสุขภาพ ที่บริษัทประกันจะได้รับ = 5,020,000 คน x 2.5 หมื่นบาท = 125,500 ล้านบาท ในปี 2560 ถ้ามาตรการลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพคลอดออกมาทันภายในปีนี้ และให้มีผลสำหรับปีภาษี 2560

ทีนี้มาดูตัวเลขเบี้ยประกันชีวิตของปี 2559 จะพบว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 568,260.4 ล้านบาท ดังนั้นเบี้ยประกันสุขภาพ ที่บริษัทประกันจะขายได้ในปีนี้ คิดเป็น 125,500/568,260 = 22.08% ของเบี้ยประกันชีวิตรวมทั้งหมดปี 2559 จะทำให้ปีนี้ ธุรกิจประกันชีวิตดีกว่าธุรกิจอื่นแบบไม่เห็นฝุ่นเลย ยิ่งช่วงนี้ราคาหุ้นบริษัทประกันชีวิต ลงมาจากจุดสูงสุด 40-55% เมื่อเห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว นักลงทุนสมองไว จะต้องทำอย่างไรกันดีครับ