posttoday

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบครึ่งปีหลัง...ไม่ไปไหน

11 กรกฎาคม 2560

โดย...มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ

โดย...มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ [email protected]

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การลงทุนในน้ำมันอาจสร้างผลขาดทุนให้กับนักลงทุนโดยส่วนใหญ่ ที่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบโลกน่าจะฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยได้ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และมาตรการร่วมลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ รวม 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปก) รวมทั้งประเทศนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งนำโดยรัสเซียและโอมาน

แต่ในทางตรงข้าม ราคาน้ำมันดิบ (เวสต์เทกซัส) กลับปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจากระดับสูงสุดที่ 54 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เหลือเพียง 46 ดอลลาร์/บาร์เรล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. หรือลดลงกว่า 15% ในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กอปรกับความผิดหวังต่อนโยบายกระตุ้นทางการคลังของสหรัฐ ซึ่งตลอด 6 เดือนหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลงต่ำกว่าคาดของนักวิเคราะห์เริ่มทำให้หลายสถาบันทบทวนและปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบลง โดยผลสำรวจล่าสุดอ้างอิงจากบลูมเบิร์ก (ณ วันที่ 7 ก.ค.) ระบุว่า ค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบสำหรับปีนี้อยู่ที่ 52.4 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากผลสำรวจเมื่อตอนต้นปีที่เฉลี่ย 54.5 ดอลลาร์/บาร์เรล

ถ้าพิจารณาจากตัวเลขดังกล่าวจะพบว่านักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่มีมุมมองต่อราคาน้ำมันดิบที่ประมาณ 54.8 ดอลลาร์/บาร์เรล ในช่วงครึ่งปีหลัง (ม.ค.-มิ.ย. 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล) ซึ่งนับว่ายังมีช่วงบวกจากราคาปัจจุบันราว 20% โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกภายหลังสหรัฐรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันพลิกกลับมาลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สอดคล้องกับปริมาณการผลิตและน้ำมันดิบคงคลังที่ปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี การที่ราคาน้ำมันดิบจะทรงตัวเหนือระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุนของผู้ผลิตเชลออยล์โดยเฉลี่ยในสหรัฐเหมือนจะไม่เป็นเรื่องง่าย เพราะเมื่อใดที่ราคาน้ำมันดิบอยู่สูงกว่าระดับดังกล่าวก็จะดึงดูดให้ผู้ผลิตน้ำมันกลับมาลงทุนผลิตน้ำมันดิบสู่ท้องตลาดอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกและประเทศนอกกลุ่มโอเปกตัดสินใจต่ออายุมาตรการลดปริมาณการผลิตอีก 9 เดือน จนสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 2561 แต่ด้วยอัตราเท่าเดิมที่ 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน อาจไม่เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงได้อย่างที่คาดหวัง

หากความต้องการใช้น้ำมันยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ตลาดน้ำมันดิบโลกยังคงมีอุปทานส่วนเกินเหลืออยู่ นอกจากนี้ การกลับมาเร่งผลิตน้ำมันดิบของประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกที่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการลดปริมาณการผลิตยังเป็นอีกปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน โดยเฉพาะไนจีเรีย ซึ่งการผลิตน้ำมันเคยหยุดชะงักลงจากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธในประเทศ เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ราว 4.5 แสนบาร์เรล/วัน จากระดับการผลิตปัจจุบันที่ 1.75 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน มิ.ย.

ด้วยภาพรวมของปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว จึงมองว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันดิบยังคงมีความเสี่ยงสูงจากราคาที่ค่อนข้างผันผวนตามข้อมูลข่าวสารที่ประกาศรายสัปดาห์ คาดว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนในระยะยาวราคาจะปรับตัวสูงขึ้นได้ตามเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง