posttoday

หุ้นได้-เสีย ค่าบาทแข็ง

14 มิถุนายน 2560

โดย...บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส

โดย...บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส

เงินบาทแข็งค่าเกินคาด กดดันผู้ส่งออกที่เน้นรายได้เป็นดอลลาร์ แต่มีต้นทุนส่วนใหญ่เป็นเงินบาท เช่น บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ยกเว้นผู้ส่งออกที่มีต้นทุนดอลลาร์จะได้ประโยชน์คือบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) ส่วนผู้ส่งออกที่เหลือ (ชิ้นส่วน และเกษตร/อาหารส่งออก) กระทบราว 5% ของกำไรปัจจุบัน ทุก 1 บาท ที่แข็งค่าจากสมมติฐานที่ 35 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ยังผันผวน 1,560-1,574 จุด

เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่านับจากปลายปี 2559 และต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ล่าสุดพบว่าเงินบาททำจุดตํ่าใหม่ที่ 33.96 บาท/เหรียญสหรัฐ ตํ่าสุดในรอบเกือบ 2 ปี (ล่าสุด 33.7 บาท/เหรียญสหรัฐ เมื่อเดือน ก.ค. 2558) หรือแข็งค่าราว 5.5% นับจากต้นปี 2560 จากผลของเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งนับจากต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีเงินไหลเข้าในตราสารหนี้ 1.35 แสนล้านบาท (หรือ 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ) แม้ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ขณะที่ทั้งปี 2559 เงินไหลเข้าตราสารหนี้รวม 3.65 แสนล้านบาท)

นับว่าเงินบาทแข็งค่ามากสุด หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (TIP) (เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียแข็งค่าเพียง 1.4% ขณะที่เงินเปโซของฟิลิปปินส์ ทรงตัวใกล้เคียงกับ ณ สิ้นปี 2559) เนื่องจากเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ทั้งสองประเทศเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ไหลเข้าอินโดนีเซีย 6,782 ล้านเหรียญสหรัฐ และไหลเข้าฟิลิปปินส์ 416 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันเริ่มมีการขายสุทธิในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย แม้จะซื้อสลับขายในฟิลิปปินส์ แต่สภาพก็ไม่แตกต่างจากไทย หรือแม้จะเทียบกับประเทศหัวเรือใหญ่ในเอเชียอย่างจีน พบว่าเงินหยวน แข็งค่าเพียงน้อยเท่านั้นโดยมีการแข็งค่ามากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลประกาศปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนตามแรงกดดันของสหรัฐ (จากเดิม 6.864 หยวน/เหรียญสหรัฐ เหลือ 6.809 หยวน เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา) เพราะถูกมองว่าค่าเงินหยวนอ่อนค่ามากเกินไป และเอื้อต่อการส่งออก ทำให้ได้ดุลการค้ากับคู่ค้ามากกว่าเกินไป จึงทำให้ค่าเงินหยวนจากปลายปี 2559 จนถึงปัจจุบันแข็งค่าแล้ว 2.3% ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่า 6% เป็นรองเพียง เงินเยนที่แข็งค่า 6.9% ถือว่าแข็งมากสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้ เงินแข็งค่ามีเพียงTFG ที่ได้ประโยชน์ แต่ราคาหุ้นแพงมากแล้วการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลกระทบต่อกลุ่มส่งออก กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์ แต่มีต้นทุนเป็นเงินบาททั้งหมด คือ STA ทุก 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 7.2% ตามด้วยบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ทุก1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 6.7%

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางเนื่องจากมีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์ และมีต้นทุนเป็นเงินบาทบางส่วน โดยกลุ่มอาหารที่ได้รับผลกระทบ คือบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ทุก 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 5.5% ตามด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ทุก 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 4.9% และบริษัท จีเอฟพีที (GFPT) ทุก 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 2.4% ส่วนบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ (BR) ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ตามมาด้วยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลกระทบ คือบริษัท ฮานาไมโครอิเลคโทรนิคส์ (HANA) ทุก 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 6.2% บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) ทุก 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 5.7% บริษัท เคซีอีอิเล็กทรอนิกส์ (KCE) ทุก 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 5.5% และบริษัท เอสวีไอ (SVI) ทุก 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิลดลง 5.2%

นอกจากนั้น กลุ่มวัสดุก่อสร้างที่ส่งออกสุทธิอย่าง บริษัท วนชัย กรุ๊ป (VNG) ได้รับผลกระทบต่อกำไรราว 80-100 ล้านบาท/การแข็งค่าทุก1 บาท หรือคิดเป็น 5.9% และกระทบต่อมูลค่าที่เหมาะสมปัจจุบันราว 0.96 บาท ตรงข้ามหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท คือ TFG ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 3.8% อย่างไรก็ตาม แนะนำเพียงเก็งกำไรช่วงสั้น เนื่องจากราคาปัจจุบันเกินมูลค่าที่เหมาะสมไปแล้ว

แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าอย่างมาก แต่หากพิจารณาจากต้นปีจนถึงปัจจุบันเฉลี่ย 34.83 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งยังคงใกล้เคียงกับสมมติฐานที่ 35 บาท/เหรียญสหรัฐ ดังนั้น หากเงินบาทแข็งค่าในระดับนี้ต่อเนื่องคาดว่า ตลอดปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 34.5 บาท บวกลบไม่มาก ซึ่งโอกาสปรับลดลงจากประมาณกำไรของปี 2560 จึงไม่มากนัก และคาดว่าจะกระทบต่อมูลค่าหุ้นปี 2560 ไม่มากเช่นกัน

โดยหากพิจารณารายหุ้นพบว่า หุ้นที่ยังเหลือโอกาสปรับขึ้นที่น่าสนใจอยู่ นั่นคือ GFPT หากมูลค่าที่เหมาะสมลดลงจากเดิม 0.5% ก็ยังมีโอกาสปรับขึ้น ราว 11% CPF ยังมีโอกาสขึ้นราว 18% รวมทั้ง VNG อีกกว่า 17%