posttoday

ภาษีกับความหวาน

04 พฤษภาคม 2559

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย  กิติชัย เตชะงามเลิศ  นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

เมื่อหลายเดือนก่อน  ผมได้เขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ล่าสุดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ลงมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้มีการจัดเก็บภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาล

1.ปริมาณน้ำตาลที่มากกว่า 6-10 กรัม/100cc. ได้จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขาย

2. ปริมาณน้ำตาลที่มากกว่า 10 กรัม/ 100 cc. จะจัดเก็บในอัตราที่ทำให้ราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขาย

จากรายงานของ AMERICAN HEART ASSOCIATION ได้แนะนำไว้ให้ ผู้ชายบริโภคน้ำตาลไม่ควรเกิน 37.5 กรัม หรือ 9 ช้อนชา ส่วนในผู้หญิงบริโภคน้ำตาลได้ไม่เกิน 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชา   เมื่อเรามาดูขนาดบรรจุของเครื่องดื่มที่ขายกันในท้องตลาด ยกตัวอย่าง ชาเขียวซึ่งมีตั้งแต่ขนาด 250 , 380 , 420 , 500 , 600 , 800cc.เราลองมาคำนวณกันดูว่าปริมาณน้ำตาลในชาเขียวขนาด 500 cc. ที่หาซื้อกันได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ ถ้ามีน้ำตาล 6กรัม/ 100 cc. นั่นหมายความว่า ในชาเขียวขนาดบรรจุ 500cc. จะมีปริมาณน้ำตาลถึง 30 กรัม/ขวด ถ้าเป็นผู้ชายดื่ม 1 ขวด นั่นหมายความว่า ในวันนั้นจะทานน้ำตาลได้อีกเพียง 5 กรัม ถ้าไม่อยากจะทานน้ำตาลเกินที่ AHA แนะนำ ขณะที่ผู้หญิงดื่ม 1 ขวด จะทานน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่ AHA แนะนำไป 5 กรัม ซึ่งโทษของการทานน้ำตาลมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ นอกเหนือจากฟันผุ และภาวะอ้วนเกินไป

ผมมีความเห็นว่าข้อเสนอเรื่องการเก็บภาษีน่าจะมี 3 ระดับ โดยแบ่งเป็นระดับการจัดเก็บภาษีเป็นดังนี้ คือ

1.ปริมาณน้ำตาลที่ 5-7 กรัม/ 100cc. จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 10 % ซึ่งจะทำให้ราคาของชาเขียวขนาดจุ 500cc. ซึ่งปกติจะมีราคาที่ 20-25 บาท ก็จะมีราคาเป็น 22-27.50 บาท ซึ่งราคาที่ขึ้นเพียงแค่นี้ก็พอที่ผู้บริโภคจะรับราคาได้ หรือผู้ผลิตอาจจะใช้วิธีอุดหนุนราคาทั้งจำนวน หรือบางส่วน เพื่อให้ยอดขายไม่ถูกกระทบมากนัก แล้วยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตพยายามคิดค้นสูตรใหม่ๆ ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยลง เพื่อที่จะสามารถขายสินค้าที่ราคาเดิม เป็นผลดีทางอ้อม ทำให้ประเทศไทยที่แวดล้อมด้วยสินค้าที่มีปริมาณน้ำตาลมาก ซ้ำร้ายคนไทยเองก็เป็นชาติที่ติดรสหวานอยู่แล้ว ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ทำอะไร คงต้องแบ่งงบประมาณมาอุดหนุนด้านสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ กอรปกับในปัจจุบันนี้ฐานอายุของประชากรไทยสุงขึ้น เรามีคนไทยที่มีอายุเกิน 60 ปีอยู่ประมาณ 14% แล้วคนเราเมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย ถ้าทางการไม่เข้ามาดูแลจัดการเรื่องต่างๆเหล่านี้ แทนที่รัฐจะใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปใช้ก่อสร้างสาธารณูปโภคไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ระบบชลประทาน ฯลฯ ยิ่งปีนี้เราเกิดภาวะแล้งน้ำ ถึงขนาดมีการแย่งแหล่งน้ำกันแล้วในบางท้องที่ แล้วดูท่าภาวะโลกร้อนที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภาวะแล้งน้ำในไทย คงจะมีไปอีกไปเรื่อยๆ

2. ปริมาณน้ำตาลที่มากกว่า 7-10 กรัม / 100cc. จัดเก็บภาษีในอัตราภาษีที่ทำให้ราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20 % ของราคาขาย

3.ปริมาณน้ำตาลที่มากกว่า 10กรัม / 100cc. จัดเก็บในอัตราที่ทำให้ราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขาย

การที่ผู้ผลิตที่ผลิตเครื่องดื่มที่จะเข้าเกณฑ์ตามแนวทางการเก็บภาษีใหม่ จะร้องแรกแหกกระเฌอ ก็เป็นเรื่องที่พอจะคาดคิดได้อยู่แล้ว ผมยังอยากจะเห็นภาษีนี้คลอดออกมา ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าทางรัฐเห็นชอบตามแนวทางที่ผมเสนอ น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ผลิต เพราะผมทำทางเลือกที่ 1 ไว้ให้ จึงจะไม่กระทบราคาขายมากเกินไปจนไปสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค และบริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มในตลาดต่อไปก็จะมีปริมาณที่ลดลง แล้วเมื่อผู้บริโภคเริ่มชินกับปริมาณน้ำตาลที่น้อยลงในเครื่องดื่มต่างๆ รัฐอาจจะลดขนาดของปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มที่ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต จากเดิมให้เหลือเป็นไม่มากกว่า 5 กรัม / 100 cc. ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนไทยในระยะยาว

4.นอกจากนั้นรัฐควรจะจำกัดปริมาณน้ำตาล และเกลือ ต่อขนมขบเคี้ยวในปริมาณที่พอเหมาะเช่นกัน เพราะว่าสินค้าในตลาดเป็นจำนวนมาก ได้ใส่น้ำตาลและหรือเกลือในปริมาณที่เกินพอดี เพื่อทำให้ผู้บริโภคติดในรสชาติ ซึ่งจะเป็นโทษต่อสุขภาพในระยะยาว ไหนๆจะโดนด่าแล้ว จัดเต็มกันไปเลยทีเดียวครับ จะได้ไม่ต้องโดนด่าหลายครั้ง