posttoday

ภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทย

12 สิงหาคม 2558

โดย...วรวรรณ ธาราภูมิ CEO กองทุนบัวหลวง

โดย...วรวรรณ ธาราภูมิ CEO กองทุนบัวหลวง

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกไม่เป็นไปอย่างที่รัฐบาลหวังไว้ ไม่ว่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องหลายเดือน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้สินครัวเรือนสูงจนกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรง ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐก็ยังล่าช้า จนหลายสำนักต้องปรับลดการขยายตัวของจีดีพีลงจากเดิมเกือบ 4% เหลือประมาณ 2-3% แม้ว่ารายได้ภาคการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องยังเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ตาม (มีสัดส่วนต่อ GDP ประมาณ 10-15%)

ในช่วงครึ่งปีที่เหลือนี้คาดว่าเศรษฐกิจยังคงทรงตัว ความหวังหลักจึงขึ้นอยู่กับการลงทุนจากภาครัฐว่าจะเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนและเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ให้รวดเร็วขึ้นได้หรือไม่ แค่ไหน หากทำได้ดี ภาคธุรกิจเอกชน (ซึ่งมีขนาด 20% ของจีดีพี) และประชาชนก็จะเกิดความมั่นใจมากขึ้น แม้ว่าเม็ดเงินส่วนนี้จะมีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่มากนัก (ประมาณ 5% เท่านั้น)

สิ่งที่ต้องติดตาม

1.การฟื้นของเศรษฐกิจรายไตรมาส (QoQ)

หากยังติดลบก็จะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นลงไปอีก (Momentum+Sentiment)

2.การส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว

ไตรมาส 3 เป็นช่วงฤดูกาลของการส่งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ถ้าคำสั่งซื้อยังไม่มากพอก็ยากที่จะเห็นภาคการผลิตฟื้นตัว (คิดเป็น 28% ของจีดีพี) ซึ่งในปัจจุบันกำลังการผลิตได้ลดลงมาอยู่ที่ 57% (ณ เดือน มิ.ย.) จากภาวะปกติที่ใช้กำลังผลิตเฉลี่ย 60%

ทั้งนี้ ปัญหาการส่งออกของไทยนั้นไม่ใช่เป็นแค่วัฏจักร (Cyclical) แต่เป็นปัญหาที่ลึกลงไปในเชิงโครงสร้าง (Structural) จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวให้เกิดขึ้นให้ได้ มิเช่นนั้นบรรษัทข้ามชาติอย่างซัมซุงหรือแอลจีก็จะทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากค่าแรงบ้านเขาถูกกว่าแต่มีทักษะสูง

3.กลุ่มคนรากหญ้ามีกำลังซื้อลดลง

กำลังซื้อลดลงเพราะผลผลิตทางการเกษตรลดลง และราคาพืชผลยังคงตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงขาดรายได้มาจับจ่ายใช้สอย ถ้าฝนฟ้าไม่เป็นใจจนภัยแล้งยืดเยื้อ ก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อของกลุ่มรากหญ้ามากขึ้น นอกจากนี้แรงงานไทยเกือบ 40% ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย

4.NPL ที่เพิ่มขึ้น

คาดกันว่า NPL จะยังเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มในอัตราที่ลดลง แต่สถานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์เอกชนยังเข้มแข็ง มีการตั้งสำรองในสัดส่วนที่สูง (สัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้เสีย ตั้งไว้สูงถึง 135%) และภาคเอกชนก็มีหนี้สินต่ำ มีเงินสดมาก กับพร้อมที่จะขยายการลงทุนถ้ามีสัญญาณที่ชัดเจน ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนของไทยส่วนใหญ่มีสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์เฉลี่ยเพียง 21% เท่านั้น

5.การเร่งรัดโครงการลงทุน

หากทำได้ดีจะช่วยส่งผลบวกต่อวงจรเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องเป็นระลอก (Ripple Effect) แต่ถ้ายังล่าช้าออกไป ภาคธุรกิจก็จะยิ่งขาดความมั่นใจและยิ่งสูญเสีย Momentum ต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเป็นผู้รีบดึงความมั่นใจกลับคืนมาก่อน แล้วกลไกตัวอื่นทางเศรษฐกิจจะตามมาเอง (ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 43% จึงยังมีโอกาสกู้เงินเพื่อการลงทุนเพิ่มได้อีก)

สิ่งที่น่ากังวล

1.ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ที่ผ่านมานี้เราขาดการลงทุนที่ต่อเนื่อง ทั้งยังมีนโยบายที่มุ่งขยายเศรษฐกิจในระยะสั้น มากกว่าจะนึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่แล้วไปใช้นโยบายระยะยาว เราไม่ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) จึงขาดการสร้างนวัตกรรมของตัวเอง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องวางนโยบายเร่งพัฒนาทรัพยากรบุคคล พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ เพื่อทำให้เราแข่งขันได้ในระยะยาว

2.ผลกระทบจากข้อพิพาทระหว่างประเทศ

เช่น ICAO ที่กระทบกระเทือนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือ TIP Report (รายงานการค้ามนุษย์) ที่มีต่ออุตสาหกรรมประมง เป็นต้น แม้ว่าจะยังไม่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทยในเวลานี้เท่าใดนัก แต่หากไม่เร่งรีบแก้ไข ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต