posttoday

ประเมินค่ารักษา รับมืออีก10ปีมูลค่าพุ่ง

20 พฤษภาคม 2560

สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัยเปิดผลวิจัยค่ารักษาพยาบาลกลุ่มข้าราชการในอีก 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 1.28-1.94 แสนล้านบาทแนะประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการวางแผนรับมือค่ายาเพิ่ม

โดย...วารุณี อินวันนา

สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัยเปิดผลวิจัยค่ารักษาพยาบาลกลุ่มข้าราชการในอีก 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 1.28-1.94 แสนล้านบาท แนะประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการวางแผนรับมือค่ายาเพิ่ม

สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ได้ประมาณการค่ารักษาพยาบาลของกลุ่มข้าราชการและผู้ใช้สวัสดิการรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยอิงดัชนีเงินเฟ้อทางการแพทย์ 4% พบว่ามีมูลค่า 1.28 แสนล้านบาท ในปี 2569 สูงขึ้นจาก 7.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 แต่หากใช้ดัชนีเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่ 6% ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.58 แสนล้านบาท และกรณีดัชนีเงินเฟ้อทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 8% ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.94 แสนล้านบาท หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักงานได้ทำการศึกษาผู้ใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของรัฐบาลจำนวน 4.8 ล้านคน ทุกช่วงอายุตั้งแต่เดือนแรกถึงอายุ 80 ปีขึ้น ที่มีการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ 1,115 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 241 แห่ง ช่วงปี 2545-2559

นอกจากนี้ หากเจาะลึกลงไปเป็นรายอายุ จะพบว่าค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกสำหรับผู้มีอายุระหว่าง 61-70 ปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2569  เพศชายจะมีค่ารักษาพยาบาล 3 หมื่นบาท/คน/ปี เพิ่มขึ้น 89.82% จากปี 2558 ที่เฉลี่ย 1.6 หมื่นบาท/คน/ปี ขณะที่เพศหญิง จะเพิ่มเป็น 2.97 หมื่นบาท/คน/ปี เพิ่มขึ้น 89.82% จากปี 2558 ที่ 1.56 หมื่นบาท/คน/ปี

สอดคล้องกับสังคมไทยที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 10 ปี ข้างหน้า ที่ผู้ใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐ 4.8 ล้านคนนี้ จะมีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็น 45.7% จาก 32.5% ในปี 2559 ทำให้คนที่มีอายุในวัยเกษียณจะต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น และจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณด้านค่ารักษาพยาบาลคนกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

สำหรับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นไปตามดัชนีเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% ส่วนปี 2559 เพิ่มขึ้น 10.8% ขณะที่ทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 7.3-7.9%

นอกจากนี้ ยังพบว่าการเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล มีสัดส่วนที่สูงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2547 คิดเป็น  53% เพิ่มเป็น 72% ในปี 2559 จำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล 5.1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กลุ่มคนอายุ 61-70 ปี มีการเจ็บป่วยในฐานะผู้ป่วยนอกบ่อยที่สุด โดยเพศชายเข้าโรงพยาบาลถึงปีละ 8.7 ครั้ง เป็นค่ารักษา 1.6 หมื่นบาท/ปี ส่วนเพศหญิง 9.9 ครั้ง ค่ารักษา 1.56 หมื่นบาท/ปี วัย 71-80 ปี เพศหญิง จะเข้าโรงพยาบาลปีละ 9.9 ครั้งเท่าเดิม ส่วนเพศชายเพิ่มเป็น 10.7 ครั้ง และเมื่อถึงวัย 80 ปีขึ้น เพศหญิงจะเข้าโรงพยาบาลปีละ 9.7 ครั้ง ค่ารักษาเพิ่มเป็น 2.2 หมื่นบาท/ปี ในขณะที่เพศชาย 11.9 ครั้ง ค่ารักษาเพิ่มเป็นปีละ 2.85 หมื่นบาท

สำหรับสัดส่วนผู้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยในมีสัดส่วน 28% เป็นค่ารักษาพยาบาล 2 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มคนอายุ 51-60 ปี จะเป็นผู้ป่วยหนักและต้องนอนรักษาพยาบาลสูงที่สุดเทียบกับคนวัยอื่นๆ

สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ระบุว่าการบริหารจัดการให้เป็นระบบจะช่วยให้การเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลที่รัฐจะต้องจ่ายในอนาคตมีอัตราเพิ่มลดลงได้ โดยการคัดเลือกยาที่มีความเหมาะสม แทนที่จะให้แต่ละสถานพยาบาลเลือกทำโดยสมัครใจ ซึ่งได้ผลไม่แน่นอน เปรียบเทียบได้ยาก อาจจะเกิดความไม่ยุติธรรมระหว่างสถานพยาบาลด้วยกัน เพราะไม่มีเกณฑ์กำกับที่มีมาตรฐาน รวมทั้งการให้โรงพยาบาลส่งข้อมูลยาที่จ่ายให้ผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้รายละเอียด และน่าเชื่อถือ สามารถวิเคราะห์และหาแนวทางควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น

สำหรับยาที่มีราคาสูงและมีความจำเป็น แต่จำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในขอบข่ายที่จำเป็นต้องใช้ยานี้มีไม่มาก ควรมีระเบียบให้เบิกได้เฉพาะกรณีที่จำเป็น โดยร่วมมือกับสมาคม หรือหน่วยงานทางวิชาชีพ เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการและข้อเสนออื่นอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรักษาผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา

ขณะที่ผลการศึกษาและประมาณการชิ้นนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีสวัสดิการรัฐ ในการเห็นแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นในการวางแผนการเงินให้เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลในอนาคต และยังใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้านการประกันสุขภาพที่เพียงพอให้ประชาชนในอนาคต

วิพล วรเสาหฤท  ผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมและกระทบต่อประชาชนในกลุ่มวัยนี้ด้วย เพราะต้องการการดูแลมากขึ้น และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นด้วย ทำให้มีคำพูดที่กล่าวกันว่าเก็บเงินมาตลอดชีวิตเพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าหมอ แต่ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้นทุนที่สามารถควบคุมได้ ด้วยการซื้อประกันสุขภาพ คนไทยวันนี้เข้าใจในเรื่องนี้ดีขึ้นมากเทียบกับ 10 ปีก่อน

“บริษัทมีนโยบายที่จะนำเสนอความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถทำงานได้และรายได้หายไป ทำให้เงินที่ลูกค้าเก็บไว้ไม่ลดลงและยังมีค่ารักษาด้วย” วิพล กล่าว