posttoday

รัฐชงเพิ่มคุ้มครอง ประกันภัยนาข้าว

20 กุมภาพันธ์ 2560

หน่วยงานรัฐเตรียมทบทวนเงื่อนไขประกันภัยนาข้าวในปีเพาะปลูกใหม่ ทั้งราคาเบี้ยประกันภัย วงเงินคุ้มครองต่อไร่ และพื้นที่ในการทำประกันภัย

โดย...วารุณี อินวันนา

หลังจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 สิ้นสุดลง หน่วยงานรัฐเตรียมทบทวนเงื่อนไขประกันภัยนาข้าวในปีเพาะปลูกใหม่ ทั้งราคาเบี้ยประกันภัย วงเงินคุ้มครองต่อไร่ และพื้นที่ในการทำประกันภัย

ทั้งนี้ ในการประชุมผู้บริหารโครงการที่มีตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้กำหนดเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในปี 2560 โดย สศค.ได้มอบหมายให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยพิจารณาอัตราเบี้ยประกันภัย และวงเงินความคุ้มครองใหม่ว่าจะปรับให้ดีขึ้นได้หรือไม่ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ความคุ้มครองสามารถเพิ่มได้อีก เพราะมีเงินเหลือหลังจากจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนสูง และเป็นโครงการไม่ได้แสวงหากำไร

นอกจากนี้ สศค.มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ประมาณการพื้นที่เพาะปลูกข้าว เพราะเป็นไปได้ว่าการทำประกันภัยข้าวนาปีในปี 2560 จะมีมากขึ้น เนื่องจากปีเพาะปลูกที่ผ่านมานั้น เกษตรกรที่ทำประกันภัยนาข้าวส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. หากมีการขยายฐานไปสู่เกษตรกรที่ปลอดหนี้ อาจจะมีจำนวนพื้นที่ข้าวนาปีเข้าสู่การทำประกันภัยมากขึ้น โดยปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศมีกว่า 56 ล้านไร่ ทำประกันภัยนาข้าวประมาณ 27 ล้านไร่ หรือ 48% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด

อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ได้มีการเจรจากับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ เพื่อขอเพิ่มความคุ้มครองประกันนาข้าว หรือเพิ่มค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหาย 1 ไร่ ให้สูงกว่าปัจจุบัน โดยบริษัทรับประกันภัยต่อต้องไปคำนวณเบี้ยประกัน อัตราความเสียหาย และวงเงินความคุ้มครองใหม่

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายต่ำ เนื่องจากแต่ละภาคมีความเสียหายเกิดขึ้นน้อย ยกเว้นภาคใต้ที่เสียหายเกือบ 100% แต่เนื่องจากภาคใต้มีพื้นที่ปลูกข้าวน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น ทำให้ยังมีส่วนต่างจากการรับประกันภัยค่อนข้างดี ส่วนจะมีการเพิ่มความคุ้มครองเป็นเท่าไหร่ยังบอกไม่ได้ ต้องรอบริษัทประกันภัยต่อประเมินโครงการ คาดว่าจะได้รับคำตอบเดือน มี.ค. เพื่อเสนอภาครัฐต่อไป

สำหรับเบี้ยประกันภัยที่เกษตรกรต้องจ่าย 100 บาท/ไร่นั้น ถือว่าต่ำมากแล้ว คงไม่สามารถลดลงได้อีก และยังให้ความคุ้มครอง 7 ภัยพิบัติเหมือนเดิม คือ ภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ หรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว หรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ มีวงเงินคุ้มครองไร่ละ 1,111 บาท และคุ้มครองความเสียหายจากภัยศัตรูพืช หรือโรคระบาด วงเงินไร่ละ 555 บาท

ขณะที่โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการเพาะปลูกที่ผ่านมา 2559/2560 มีพื้นที่ที่แจ้งทำประกันภัย 27.17 ล้านไร่ คิดเป็น 48.09% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ แต่ระหว่างนั้นมีเกษตรกรประมาณ 5 ล้านไร่ เปลี่ยนใจไปเพาะปลูกพืชชนิดอื่น และบางพื้นที่ไม่ได้ทำการเพาะปลูก เพราะเห็นว่าไม่คุ้มกับการลงทุน กลุ่มนี้จะต้องคืนเบี้ยประกันภัยจำนวน 500 ล้านบาทให้เกษตรกร ทำให้เหลือพื้นที่เพาะปลูกปีที่ผ่านมาจำนวน 22 ล้านไร่

ทั้งนี้ มีพื้นที่ขอรับค่าสินไหมทดแทน จำนวน 2.64 แสนไร่ คิดเป็นสัดส่วนของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 0.97% ของพื้นที่ทำประกันทั้งหมด ส่วนเบี้ยประกันภัยรวมเหลือ 2,217 ล้านบาท ซึ่งหักเบี้ยที่คืนเกษตรกรแล้ว และคาดว่าอัตราค่าสินไหมทดแทนจะถึง 40% ของเบี้ยประกันภัยรับ

โครงการประกันภัยข้าวนาปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 มีอัตราความเสียหาย 554% และลดลงมาต่อเนื่อง จนปี 2557 มีอัตราความเสียหาย 30% และปี 2558 เบี้ยรับมากกว่าค่าสินไหมที่จ่าย