posttoday

คุณโกหกตัวเองหรือเปล่าเกี่ยวกับระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่คุณสามารถยอมรับได้

17 มีนาคม 2557

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP®

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP®

การหารือเรื่องความเสี่ยงส่วนมากจะขึ้นอยู่กับสองคำถามและหลายครั้งสองคำถามนี้มักจะได้ถูกใช้สลับกัน

คำถามที่ 1 คุณสามารถรับความเสี่ยงได้มากเท่าไร

คำถามที่ 2 คุณควรจะเสี่ยงมากเท่าไร

คำตอบสำหรับคำถามที่ 1 จะไม่เหมือนคำตอบสำหรับคำถามที่ 2 เสมอไป ถึงแม้ว่านักวางแผนการเงินส่วนใหญ่มักจะสรุปให้คำตอบเหมือนกัน คำถามที่ 1 เกี่ยวกับระดับความอดทนต่อความเสี่ยง กล่าวคือคุณรู้สึกสบายใจแค่ไหนเมื่อคุณเห็นว่าพอร์ตของคุณกำลังได้รับผลกระทบจากการสูญเสียอย่างรุนแรง แต่ความต้องการที่คุณอยากจะเสี่ยงก็ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะเสี่ยง และนี่คือที่มาของคำถามที่ 2 เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ความอดทนต่อความเสี่ยงถูกใช้เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาส่วนประกอบของพอร์ตการลงทุน แต่ในความเป็นจริงมีอยู่สามปัจจัยที่ควรจะนำมาใช้ในการพิจารณาแนวทางการลงทุนระยะยาว กล่าวคือความอดทนต่อความเสี่ยง ความสามารถด้านการเงินต่อความเสี่ยง และ ความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุด (Optimal risk)

ความอดทนต่อความเสี่ยงเป็นการวัดความสมัครใจในการยอมรับความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนที่ อาจจะสูงขึ้น คนที่มีความอดทนสูงถือว่าเป็นนักลงทุนที่มีความมั่นใจสูงและพร้อมที่จะสูญเสียทุนเพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่วนคนที่มีความอดทนต่ำหรือที่เรียกกันว่า ผู้ที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง จะเป็นนักลงทุนที่ใช้ความระมัดระวัง โดยจะเน้นการปกป้องทุน ทั้งสองประเภทไม่ใช่นักลงทุนในอุดมคติ นักลงทุนที่มีความอดทนต่อความเสี่ยงสูงจะเลือกที่จะลงทุนในสิ่งที่มีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนสูงถึงแม้ว่ามีโอกาสจะสูญเสียสูง นักลงทุนประเภทนี้จะไม่ขายหุ้นในช่วงเวลาตลาดปรับตัวชั่วคราว แต่ในเวลาเดียวกันนักลงทุนที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงมักจะตื่นตระหนกและขายหุ้นผิดเวลา ในทางกลับกัน นักลงทุนที่มีความอดทนสูงมักจะมองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนสำหรับพอร์ตการลงทุนของเขาไม่มากนัก

ตัวอย่างคือ สมชายและสมศรีทำงานเป็นพนักงานร้านค้า ทั้งสองคนรับเงินเดือนเท่ากัน และมีทางเลือกด้านวิชาชีพสำหรับอนาคตเท่ากัน ทั้งสองคนอายุ 38 ปี เพราะฉะนั้นจะมีโอกาสระยะยาวเท่ากัน สมชายเป็นคนชอบพนันม้า ความที่ติดพนันมานานทำให้เขาสามารถรับการสูญเสียได้ถึงแม้ว่าการสูญเสียดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของ เขาในอนาคต ในทางกลับกันสมศรีเป็นคนที่ระมัดระวัง เธอพยายามออมเงินที่ได้รับและไม่ชอบที่จะใช้เงินสำหรับสิ่งที่ไม่จำเป็น

ถึงแม้ว่าทั้งสองคนมีฐานะทางการเงินที่เหมือนกัน แต่ต่างคนต่างมีความอดทนต่อความเสี่ยงที่แตกต่างกันมาก พอร์ตการลงทุนของสมชายอาจประกอบด้วยการลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงถึงแม้ว่าเขาเป็นแค่พนักงานร้านค้าและไม่สามารถจะ รับความสูญเสียอย่างมากได้ ส่วนพอร์ตการลงทุนของสมศรี ซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อาจจะประกอบด้วยการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น ถึงแม้ว่าเงินต้นจะยังอยู่แต่เธอก็จะได้รับผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างจากผลตอบแทนในการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงและพอร์ตการลงทุนของเธอก็อาจจะไม่สามารถปรับตัวตามอัตราเงินเฟ้อได้ หากทั้งสองคนเลือกที่จะลงทุนตามความอดทนต่อความเสี่ยงของตน ผลที่ได้รับจะไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับทั้งสอง ในกรณีนี้แผนการลงทุนที่เหมาะสมควรจะอยู่ระหว่างสองตัวอย่างเบื้องต้น ความอดทนต่อความเสี่ยงของคุณจะเป็นตัววัดว่าคุณจะสามารถรับความเสี่ยงได้มากเท่าไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอัตราความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ปัจจัยการประเมินความเสี่ยงที่สองที่ควรจะทำต่อไป

ความสามารถที่จะรับความเสี่ยง เมื่อเรานำปัจจัยความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการลงทุน มีอยู่สองคุณสมบัติที่ต้องนำมาใช้ คุณสมบัติที่หนึ่งคือจิตวิทยา ที่เรียกกันว่า ความอดทนต่อความเสี่ยง ซึ่งเราได้พูดถึงแล้ว อีกคุณสมบัติจะเกี่ยวข้องกับความสามารถทางการเงินหรือความสามารถที่จะรับความเสี่ยง ลองมาดูถึงผลกระทบต่อนักลงทุนสามคนที่มูลค่าพอร์ตของเขาลดลงในอัตราร้อยละ 50:

•ชาตรี อายุ 76 ปี และเคยได้รายได้เป็นจำนวนหลายพันล้านในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมของเขา สินทรัพย์ของเขาประเมินมูลค่าได้กว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท

•สมบัติ มีอายุปลายๆ55 มีครอบครัวที่เขาต้องอุปถัมภ์และกำลังย่างเข้าสู่การเกษียณ

•บุรินทร์ มีอายุ 20 ปี และเพิ่งจะเริ่มชีวิตการลงทุน โดยมีทุนรวมอยู่ที่ 50,000 บาท
การขาดทุนถึงร้อยละ 50 จะทำให้ชาตรีมีสินทรัพย์เหลือ 5,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่าเขาจะโกรธต่อความสูญเสียดังกล่าวแต่เขาก็ยังมีเงินพอที่จะซื้อทุกอย่างที่เขาต้องการได้ บุรินทร์ก็ยังมีความสามารถที่จะรับการสูญเสียได้เช่นกัน เขายังมีเวลาอีกหลายปีที่จะเก็บเงินและลงทุนก่อนที่จะต้องคำนึงถึงการเกษียณ ในเวลาเดียวกันสมบัติไม่มีเงินพอที่จะรับความเสี่ยงได้ถึงแม้ว่าเขาพร้อมที่จะลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงสูง เขามีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูและมีเวลาน้อยกว่า 5 ปีก่อนที่จะต้องเกษียณ การที่มูลค่าพอร์ตการลงทุนของเขาลดลงร้อยละ 50 จะส่งผลกระทบให้เขามาก

ความสามารถที่จะรับความเสี่ยงทางการเงินจะวัดได้หลายแบบ ซึ่งรวมถึงระยะเวลา สภาพคล่อง มูลค่าของนักลงทุนและรายได้ คนที่ต้องการสภาพคล่องสูงเช่นต้องสามารถเรียกใช้เงินได้ทุกเมื่อ ก็จะถูกจำกัดในอัตราความเสี่ยงที่สามารถรับได้ บุคคลเหล่านี้จะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่อาจจะมีผลตอบแทนที่ดีแต่ไม่มีสภาพคล่องตามที่ต้องการ  เมื่อระยะเวลายาวขึ้นความสามารถในการรับความเสี่ยงก็มากขึ้นจากการแกว่งตัวของตลาดในระยะสั้นมีความสำคัญลดลง สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงและมีทรัพย์สินมากก็สามารถลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้เพราะเขาก็ยังจะมีรายได้ไม่ว่าสภาพตลาด จะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกันนักลงทุนที่มีอายุและทุนน้อยก็สามารถรับความเสี่ยงได้สูงเนื่องจากมีเวลาการลงทุนที่ยาว สามารถรอการปรับลดของตลาดในระยะสั้นให้ผ่านไปได้โดยไม่ต้องถอนทุนก่อนที่ตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งก็จะนำเราไปสู่ปัจจัยการประเมินความเสี่ยงที่สาม ความเสี่ยงที่เหมาะสมสำหรับพอร์ตการลงทุน

ความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งแตกต่างกันมากจากความอดทนต่อความเสี่ยงและความสามารถที่จะรับความเสี่ยง ปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งสองเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวนักลงทุนแต่ความเสี่ยงที่เหมาะสมเป็นการสร้างพอร์ตที่มีประสิทธภาพเหมาะที่สุดต่อความเสี่ยง ความเสี่ยงที่เหมาะสมของพอร์ตมาจากทฤษฎีพอร์ตสมัยใหม่ (Modern Portfolio Theory) ปัจจัยสำคัยของทฤษฎีนี้คือ นักลงทุนพยายามที่จะจำกัดอัตราความเสี่ยงในเวลาเดียวกันก็ต้องการเพิ่มผลตอบแทนที่จะได้รับให้มากที่สุด ในทฤษฎีนี้จะเป็นการผสมผสานกันของกลุ่มหลักทรัพย์ที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นจุดเมื่อหน่วยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุดหรือพูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นจุดที่คุณจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดใน การลงทุนด้วยความเสี่ยงที่ต่ำที่สุดดังปรากฏในเส้นความเหมาะสมที่เรียกว่า Efficient Frontier ความเข้าใจของปัจจัยทั้งสามจะช่วยให้นักลงทุนจัดทำพอร์ตที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละสถานการณ์

ผู้อ่านสามารถส่งคำถามเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลให้ผมได้ที่ [email protected]