posttoday

จะใช้สิทธิภาษีต้องระวังเงื่อนไขภาคประกันบำนาญ

19 ธันวาคม 2556

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ / [email protected]

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ / [email protected]

เมื่อวันศุกร์ช่วง 11.10-12.00 น.ที่ผ่านมา ผมได้ฟังรายการวิทยุช่อง 101 FM มีผู้ฟังถามถึงประกันบำนาญ 100,000 บาท กับ 200,000 บาท ว่าต่างกันอย่างไร ผมฟังดูแล้วเห็นว่าเป็นคำถามที่เป็นประโยชน์ เผื่อคนที่ไม่ได้ฟังในเวลาดังกล่าวจะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

หลายคนคงสงสัย 100,000 บาท กับ 200,000 บาท คืออะไร คืออย่างนี้ครับ กฎหมายกำหนดให้ประกันชีวิตทั่วไปที่เงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้ กรมธรรม์ต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป เงินคืนระหว่างปีไม่เกิน 20% ของเบี้ยที่ชำระระหว่างปีและเป็นของบริษัทประกันชีวิตที่ทำกิจการในประเทศไทย หักได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท

และให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นการเพิ่มเติมค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่มีอยู่แล้วตามปกติ 100,000 บาท เพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาท ซึ่งวงเงินที่เพิ่มขึ้นต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณีหรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน

โดยประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องมีลักษณะดังนี้ครับ

(1) เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป (2) ต้องเอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย (3) มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ จะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน (4) มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น และต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ก่อนได้รับผลประโยชน์

จะเห็นนะครับว่า ลักษณะของประกันชีวิตแบบบำนาญก็เข้าเงื่อนไขของประกันชีวิตทั่วไปที่ว่าอายุกรมธรรม์ต้องตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปเหมือนกัน จึงทำให้ประกันชีวิตแบบบำนาญเข้าเงื่อนไขที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 100,000 บาทของประกันชีวิตทั่วไปได้ ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่เคยซื้อประกันชีวิตเลย และคิดจะซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญอย่างเดียว ก็สามารถนำเงินที่จ่ายชำระค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดย 100,000 บาทแรกมาจากการใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตทั่วไป อีก 200,000 บาท ใช้สิทธิลดหย่อนของประกันชีวิตแบบบำนาญ

แต่ประกันชีวิตทั่วไปไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนของประกันชีวิตแบบบำนาญได้ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขหลักของประกันชีวิตแบบบำนาญอย่างเช่นการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวด เป็นต้น

เรามาดูตัวอย่างที่ผมนำมาจากเว็บไซต์กรมสรรพากรกันดีกว่านะครับ

ตัวอย่างการคำนวณที่ 1
นาย ข. มีเงินได้ปีละ 1,280,000 บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญปีละ 143,500 บาท จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 128,000 บาท และจ่ายค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จำนวน 121,000 บาท นาย ข. สามารถหักค่าลดหย่อนและยกเว้นภาษีได้ดังนี้ (1) คำนวณยอดการใช้สิทธิหักไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แล้วพักไว้ = 1,280,000 x 15% = 192,000 (2) นาย ข. จ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 143,500 บาท ให้ไปใช้สิทธิหักประกันชีวิตปกติก่อน (10,000 + 90,000) = 100,000 บาท ส่วนที่เหลือนำไปใช้สิทธิค่าลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญ 43,500 บาท (143,500-100,000) (3) นำยอดค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่เหลือ 43,500 บาท เทียบกับวงเงินตาม 1.พบว่าไม่เกิน 192,000 บาท (15% ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาท) (4) นำยอดค่าประกันชีวิตแบบบำนาญที่เหลือ ไปรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท = 43,500+128,000+121,000 = 292,500 บาท นาย ข. สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักเป็นเบี้ยประกันชีวิตแบบปกติ 100,000 บาท และหักเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้อีก 43,500 บาท

ตัวอย่างการคำนวณที่ 2
นาย ง. มีเงินได้ปีละ 1,350,000 บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบตลอดชีพปีละ 120,000 บาท ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญปีละ 250,000 บาท จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 135,000 บาท และจ่ายค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จำนวน 100,000 บาท นาย ง. สามารถหักค่าลดหย่อนและยกเว้นภาษีได้ดังนี้ (1) คำนวณยอดการใช้สิทธิหักไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แล้วพักไว้ = 1,350,000 x 15% = 202,500 บาท (2) นาย ง. จ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบตลอดชีพ 120,000 บาท ให้นำเบี้ยประกันชีวิตแบบตลอดชีพไปใช้สิทธิหักเบี้ยประกันแบบปกติก่อน 100,000 บาท ส่วนที่เกิน 100,000 บาท (20,000 บาท) ตัดทิ้งเพราะหักเบี้ยประกันชีวิตแบบปกติครบถ้วนแล้ว (3) นำยอดเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่จ่ายจริง 250,000 บาท เทียบกับวงเงินตาม 1.พบว่าเกิน 15% (202,500 บาท) และเกิน 200,000 บาท จึงสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้เต็ม 200,000 บาท (4) นำยอดค่าเบี้ยประกันภัยแบบบำนาญที่สามารถหักได้ตาม 3.ไปรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท = 200,000+135,000+100,000 = 435,000 บาท พบว่าไม่เกิน นาย ง. สามารถหักเบี้ยประกันชีวิตแบบตลอดชีพได้ 100,000 บาท และหักเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้ 200,000 บาท