posttoday

รากฐานของการวางแผนการเงิน ที่ต้องมีก่อนการลงทุน

16 มกราคม 2561

"รากฐาน"ของการวางแผนการเงินมีความสำคัญไม่แพ้การลงทุน

โดย...อานนท์ ลีลาชุุติพงศ์ FINNOMENA Insight

การลงทุนเพื่ออนาคตนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน เนื่องจากถ้าเราวางเงินไว้ในสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงเลยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เนื่องจากค่าของเงินนั้นลดลงเรื่อยๆ จากอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเพียงจุดยอดของการวางแผนการเงินเท่านั้น โดยในบทความนี้ จะกล่าวถึง “รากฐาน” ของการวางแผนการเงินซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้การลงทุนเลยทีเดียว รากฐานของการวางแผนการเงินนั้นแบ่งเป็น 2 อย่างหลักๆ คือ การบริหารจัดการสภาพคล่อง และการจัดการความเสี่ยง

1.การบริหารจัดการสภาพคล่อง

การบริหารจัดการสภาพคล่อง หมายถึง การเก็บทรัพย์สินส่วนหนึ่งเพื่อไว้พร้อมใช้จ่ายขั้นพื้นฐานทันทีที่ต้องการ เช่น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วย หรือเรียกง่ายๆ ว่า การสำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน การสำรองเงินเผื่อฉุกเฉินจะไม่จำเป็นในกรณีที่เรามีกระแสเงินสดเข้าอยู่เป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือตกงาน เป็นต้น ถ้าไม่มีเงินสำรองเลย จะทำให้เราไม่สามารถใช้จ่ายที่จำเป็นในกรณีขาดรายได้ได้ การสำรองเงินเผื่อฉุกเฉินโดยปกติจะสำรองไว้ที่ประมาณ 6-12 เดือนของค่าใช้จ่ายปกติที่จำเป็น เช่น ในชีวิตประจำวันถ้าเราใช้เงินเดือนละประมาณ 2 หมื่นบาท เราควรมีเงินสำรองขั้นต่ำที่ประมาณ 1.2-2.4 แสนบาท หรือมากกว่านี้เพื่อความสบายใจ

เงินก้อนนี้ควรเก็บไว้ที่ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น เป็นเงินสด หรือเป็นเงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถถอนมาใช้ได้ หรือถ้าต้องการเพิ่มผลตอบแทนอีกเล็กน้อย การเก็บไว้ในกองทุนตลาดเงินซึ่งจะได้เงินภายใน 1 วันทำการนับจากวันที่ขาย (T+1) ก็นับว่ายังปลอดภัย

2.การจัดการความเสี่ยง

ความเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่และทุกเวลา ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ในด้านบวกเราอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าเกิดความเสี่ยงด้านลบขึ้นมาอาจทำให้เรามีปัญหาได้ เช่น ความเสี่ยงในด้านชีวิต ด้านสุขภาพ หรือด้านการเงิน เป็นต้น

เราสามารถจำแนกความเสี่ยงออกเป็น 2 วิธี คือ จำแนกตามโอกาสในการเกิด และจำแนกตามความเสียหายเมื่อเกิดขึ้น การจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นแบ่งเป็น 2 วิธีหลักๆ คือ โอนให้ผู้อื่นรับแทนหรือรับไว้เอง

สำหรับความเสี่ยงที่ควรโอนให้ผู้อื่นรับแทนอย่างยิ่งนั้น คือความเสี่ยงที่โอกาสเกิดน้อย แต่ถ้าเกิดจะสร้างความเสียหายต่อตนเองและคนรอบข้างสูงมาก ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ เราอาจพิจารณารับไว้เอง หรือพยายามหลีกเลี่ยงได้ สำหรับการโอนความเสี่ยงให้คนอื่นนั้น คงหนีไม่พ้นการทำประกันภัย ซึ่งมีให้เลือกตามประเภท เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

หลักการของประกัน คือ ผู้ซื้อกรมธรรม์จ่ายเงินคนละน้อยให้บริษัทประกัน และบริษัทจะนำเงินก้อนนั้นไปบริหารจัดการ และจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้แก่คนที่ “โชคร้าย” จริงๆ ทำให้คนส่วนใหญ่มักมองว่า การทำประกันเหมือนการจ่ายเงินทิ้งไปเปล่าๆ แต่นั้นหมายถึงว่าเราโชคดีที่ไม่เกิดเหตุที่ต้องเคลมประกัน ซึ่งต่อให้เมื่อเกิดเหตุนั้นขึ้น เราก็จะอุ่นใจได้เนื่องจากมีประกันคุ้มครองอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาถึงประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐและญี่ปุ่น ประเทศเหล่านั้นมีนิยมทำประกันอย่างมาก โดยพิจารณาทั้งจำนวนกรมธรรม์ต่อคน และวงเงินคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม การทำประกันนั้นควรคำนึงถึง 3 สิ่ง คือ 1.เข้าใจอย่างถ่องแท้เงื่อนไขของกรมธรรม์นั้นๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อเอง 2.คุ้มครองเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ต้องเลือกการคุ้มครองมากจนเกินพอดี 3.เลือกกรมธรรม์ที่ตนเองมีกำลังจ่าย โดยส่วนใหญ่ไม่ควรเสียค่าเบี้ยประกันเกิน 10-15% ของรายได้ ถ้าเกินกว่านี้อาจเป็นภาระทางการเงิน หรือสร้างรายจ่ายโดยไม่จำเป็นได้ 

ดังนั้นแล้วรากฐานของการเงิน เปรียบเสมือนฐานของพีระมิด การวางแผนทางการเงินที่ดีนั้นทำให้ฐานของพีระมิดแข็งแรง ทำให้สามารถก่อยอดของพีระมิดให้สูงขึ้นต่อไปแต่ในทางกลับกัน ถ้าฐานของพีระมิดอ่อนแอ อาจทำให้พีระมิดพังครืนลงมาในที่สุด