posttoday

สำรองเลี้ยงชีพ เลือกเป็นจึงพอเกษียณ

16 มกราคม 2561

การเลือกลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในหุ้นมาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจตลาด

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

เรามักจะได้ยินทางการแสดงความกังวลว่าคนไทยจะมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ เพราะตลอดเส้นทางชีวิตช่วงที่ผ่านมาที่ยังทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้นั้น “ออมไม่พอ”

ในงานสัมมนาเรื่อง เวลท์ แอดไวซ์ สร้างโอกาสให้คนไทยมีเงินพร้อมใช้ในระยะยาว ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นำเสนอหนึ่งในประเด็นน่าคิด ที่คนทำงานอย่างเราๆ ควรต้องลองกลับมาทบทวนกันดู นั่นคือการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่หักเงินของพนักงานทุกเดือนตามสัดส่วนที่ตกลงไว้ โดยมีนายจ้างสมทบเงินเข้ากองทุนด้วยอีกส่วนหนึ่ง เพราะนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราออมไม่พอ

รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. สะท้อนว่า ปัจจุบันมีผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 3 ล้านคน รวมเม็ดเงินที่อยู่ในการบริหารจัดการ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งของการออมระยะยาวเพื่อรองรับวัยเกษียณ แต่ปัญหาที่พบคือ การเลือกลงทุนโดยรวมอยู่ในหุ้นไม่เกิน 17-18% แปลว่ามากกว่า 80% นำไปลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้ไม่มีทางเพียงพอรับวัยเกษียณ

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนการเลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ในหุ้นน้อย เพราะคณะกรรมการมีความเป็นห่วงว่าหากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในหุ้นมาก จะทำให้พนักงานรับความเสี่ยงมากเกินไป หากเกิดเหตุอะไรผิดพลาดขึ้นมาสมาชิกก็จะโทษคณะกรรมการได้

วิธีนี้แก้ได้โดย องค์กรควรเปิดโอกาสให้พนักงานมีทางเลือกในการเลือกลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น แทนที่จะมีการลงทุนรูปแบบเดียว ก็ควรจะมีกองทุนที่ลงทุนในหลากหลายรูปแบบให้เลือกลงทุน เช่น มีประมาณ 2-3 กองทุน หรือบางที่อาจจะใช้วิธีการปล่อยให้พนักงานเลือกเองได้ตามอิสระตามรายชื่อกองทุนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ดูแลนำเสนอให้

นอกจากนั้น ก็อาจจะเพิ่มเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจกับพนักงานองค์กรในเรื่องของการเลือกลงทุนให้เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสาเหตุที่ไปเลือกกองทุนที่ลงทุนในหุ้นน้อยมากก็อาจจะเป็นเพราะคำอธิบายการลงทุนที่ยาก ละเอียด เป็นเชิงเทคนิคมากเกินไป

ถ้าวิธีการง่ายขึ้นก็อาจจะทำให้พนักงานที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลือกลงทุนได้เหมาะสมมากขึ้น เช่น การให้คำแนะนำว่าอายุเท่านี้ควรจะมองกองทุนในลักษณะนี้ เมื่ออายุเปลี่ยนไประดับหนึ่งแล้วมองกองทุนลักษณะนี้จะเหมาะสมกว่า

ชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย เสนอแนะว่า ถ้าเป็นไปได้พนักงานที่มีโอกาสเลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรจะเลือกกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเกิน 50% หากต้องการสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นเร็ว อย่างไรก็ตามการเลือกลงทุนก็ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจในตลาดที่แต่ละคนมีด้วย รวมถึงขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นมีความทนทานต่อความผันผวนของการลงทุนเพียงใด เพราะสิ่งนี้แต่ละคนมีไม่เท่ากัน

“การเลือกลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในหุ้นมาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจตลาด คนวัยเกษียณบางคนมีเงินมากยังเลือกลงทุนกองทุนที่ลงทุนหุ้นมากอยู่ก็มี” ชวินดา กล่าว

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากท่านคือคนที่ทำงานกับบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลองกลับไปสำรวจดูว่ากองทุนที่ท่านเลือกลงทุนไป มีนโยบายลงทุนอย่างไร มีลงทุนตราสารหนี้ หุ้น ลงทุนต่างประเทศ หรือลงทุนอะไรบ้าง แล้วที่ผ่านมาผลตอบแทนที่ได้เป็นอย่างไร

หากผลตอบแทนเติบโตช้าเพราะลงทุนแบบเสี่ยงน้อยมากๆ ให้ท่านลองมองต่อไปว่า แล้วองค์กรของท่านมีแผนลงทุนทางเลือกอื่นบ้างหรือไม่ ถ้ามีให้ลองศึกษาดู รวมทั้งสำรวจตัวเองว่า ปัจจุบันมีเงินเท่าไหร่แล้วเพื่อรองรับการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขในวัยเกษียณ

เมื่อพบว่าไม่พอแน่ๆ ลองพิจารณาเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นมากขึ้นดู แต่ในกรณีนี้ท่านก็ต้องทำความเข้าใจกับความเสี่ยงด้วยว่าตัวเองรับได้ดีแค่ไหน

จงจำไว้ว่า ยิ่งอายุน้อย ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงได้มาก ถ้าอยู่ในวัยที่ยังพร้อมเสี่ยงก็จงเสี่ยงบ้าง

เพราะถ้ากลัวไปเสียทุกอย่าง ไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย ถึงเวลาเกษียณ คราวนี้ได้เผชิญกับความกลัวที่น่ากลัวกว่า คือ ยังมีเงินไม่พร้อมใช้ชีวิตวัยเกษียณเลย

ทางฝั่งองค์กร หากเป็นไปได้ก็อยากให้พิจารณาเช่นกัน หากวันนี้ตัวเลือกลงทุนที่มีให้พนักงาน มีแต่ความเสี่ยงต่ำพอๆ กันหมด ลงทุนในหุ้นน้อยมาก เพิ่มทางเลือกให้พนักงานสามารถเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้บ้าง ไม่ต้องกลัวแทนพนักงานไปหมด เพราะคนทุกคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน