posttoday

ว่าด้วยเรื่องค่าลดหย่อนภาษี

09 ตุลาคม 2560

โดย...ผศ.ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า

โดย...ผศ.ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า www.econ.nida.ac.th

ปีหนึ่งๆผ่านไปไวมาก ตอนนี้ก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีอีกแล้ว  จึงถึงช่วงเวลาที่ต้องมาทบทวนแผนงาน แผนชีวิต และกิจกรรมต่างๆ ที่ทำไป หนึ่งในเรื่องที่สำคัญ อันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมืองดี คือ เรื่องภาษี ซึ่งบางคนอาจมีการวางแผนภาษีมาตั้งแต่นาทีแรกของปี ก็จะมีการบริหารจัดการมาอย่างดีแล้ว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่รอสัญญาณเตือนจากโฆษณามหกรรมลดภาษีนาทีสุดท้าย จึงเริ่มพิจารณา

ดังนั้น อย่ารอให้ถึงรถไฟขบวนสุดท้ายอย่างนั้นเลย ตอนนี้เพิ่งจะช่วงต้นของไตรมาสสุดท้าย ยังพอมีเวลาที่จะบริหารจัดการอะไรได้บ้าง ในการใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อนต่างๆ เพื่อประหยัดต้นทุนภาษีของเรา

ในส่วนของโครงสร้างภาษีในปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก แต่อาจจะพูดได้ว่า ดูจะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนในการลดต้นทุนด้านภาษี โดยภาครัฐก็คำนึงถึงผลกระทบต่อรายรับ แต่ได้ส่งเสริมและปรับเปลี่ยนในเรื่องต่างๆ ให้เหมาะสมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับแหล่งเงินได้ประเภทต่างๆ ก็มีการหักได้ในอัตราและจำนวนที่เพิ่มขึ้นสำหรับบุคคลทั่วไปที่ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน รวมถึงเงินได้ประเภทค่าจ้างทั่วไป และค่าลิขสิทธิ์

ในขณะที่มีการปรับอัตราการหักค่าใช้จ่ายที่น้อยลงสำหรับเงินได้จากการรับเหมาก่อสร้าง และรายได้จากการประกอบธุรกิจบางอย่าง นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนเกณฑ์เงินได้ที่ต้องยื่นภาษีให้สูงขึ้น และยังปรับเกณฑ์เงินได้สุทธิสำหรับอัตราภาษีขั้นบันไดสุดท้าย ซึ่งอันนี้จะเกี่ยวข้องกับเฉพาะผู้มีเงินได้สุทธิอยู่ในช่วง 4-5 ล้านบาท ที่จะได้ประโยชน์จากลดขั้นลงมาอยู่ในช่วงอัตราภาษีเงินได้ที่ต่ำลง

สำหรับค่าลดหย่อน ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการภาษีนั้น ในปี 2560 มีรายการที่เปลี่ยนแปลงคือ เราได้ลดหย่อนส่วนตัวเพิ่มขึ้นจาก 3 หมื่นบาท เป็น 6 หมื่นบาท เรียกได้ว่าปรับเพิ่มให้ 2 เท่าเลยทีเดียว หลังจากไม่ได้ปรับมานานแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อให้สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ เรายังสามารถวางแผนจัดการภาษีได้ ด้วยการมีบุตร เพราะตอนนี้ ค่าลดหย่อนบุตรก็เพิ่ม 2 เท่าเหมือนกัน จาก 1.5 หมื่นบาทให้เป็น 3 หมื่นบาท/บุตรแต่ละคน โดยไม่คิดเล็กคิดน้อยเรื่องการศึกษาแล้วว่าจะบวกเพิ่มได้หรือไม่ เพราะเป็นประเด็นมากมายที่ลูกเรียนเตรียมอนุบาลบ้าง ศึกษาอยู่ต่างประเทศบ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขของค่าลดหย่อนบุตร จากเดิมที่กำหนดสูงสุดหักได้สำหรับบุตร 3 คน กลายเป็นไม่จำกัดจำนวนบุตรอีก สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า ภาครัฐสนับสนุนเต็มที่ ให้ประชาชนมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ซึ่งตรงนี้ก็เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั่นเอง

ส่วนค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ ก็เป็นมาตรการภาษีใหม่ที่เกิดขึ้น จากเดิมที่ให้หักลดหย่อนเฉพาะการประกันสุขภาพของบิดามารดาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่สำหรับปี 2560 นี้ สามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพของตนเองได้ด้วย

แม้ว่าก่อนหน้านี้กรมสรรพากรไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าการทำประกันสุขภาพ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการส่งเสริมการออมเงิน แต่เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันราคาสูงมาก จึงหวังให้มาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างหลักประกันสุขภาพและช่วยลดภาระในด้านค่ารักษาพยาบาลของผู้มีเงินได้ และยังมีส่วนในการลดภาระทางการคลังของภาครัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยกำหนดวงเงินค่าลดหย่อนไว้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท แต่เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตเดิมแล้วต้องไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งบางคนที่ใช้สิทธิในส่วนนี้เต็มไปก่อนหน้าแล้ว ก็คงชวดไป

ส่วนรายการลดหย่อนที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน รวมถึงการออมเพื่อวัยเกษียณนั้น มักมีคนตั้งคำถามว่า ลดหย่อนอันไหนดี อันไหนคุ้มสุด ต้องขึ้นกับว่า เราตีความคำว่า “คุ้ม” อย่างไร เป็น “คุ้มค่า” หรือ “คุ้มทุน” เพราะในการลงทุนเหล่านั้น เราได้สิทธิประโยชน์ในเบื้องต้น ในส่วนของการลดต้นทุนด้านภาษีแล้ว

ถ้ายิ่งลงทุนมาก ก็ได้ลดค่าใช้จ่ายภาษีมากขึ้น โดยเหตุผลในการกำหนดรายการเหล่านี้มาเป็นค่าลดหย่อน ก็มีความมุ่งหมายที่ต่างกันออกไป เช่น ค่าลดหย่อนในส่วนของเบี้ยประกันชีวิต เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ต่างมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมเงินของประชาชน ในขณะที่เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้นมีเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพของตลาดทุนและพัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุน

ค่าลดหย่อนสุดท้ายที่เราไม่ควรลืม คือ ค่าลดหย่อนเงินบริจาค ทั้งกรณีทั่วไป และเงินบริจาคเพื่อการศึกษาหรือการกีฬา ที่มีแคมเปญว่า ให้ 1 ได้ 2 นั่นคือ สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่า แต่ต้องเป๊ะตามเงื่อนไข ไม่ใช่บริจาคอะไรก็ใช้ได้หมด และในปี 2560 ก็มีรายการเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่สามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ต้องเป็นรายการบริจาคระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2560 และ 5 ก.ค.-31 ต.ค. 2560 เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขของหน่วยงานรับบริจาคตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ จึงจะได้รับสิทธิอย่างครบถ้วนและถูกต้อง

อาจมีบางคนที่รู้สึกว่า ค่าลดหย่อนของรายการทำดีอย่างเงินบริจาค ยังยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจริงๆ แล้ว เราควรคิดว่า สิทธิประโยชน์ตรงนี้เป็นผลพลอยได้ อย่าไปคิดว่าบริจาคแล้วได้ส่วนลด แม้ว่าเหตุผลของการกำหนดค่าลดหย่อนรายการนี้อาจจะเป็นว่า นำเรื่องลดหย่อนภาษีมาจูงใจให้คนทำดีก็ตาม

แต่ในเรื่องความยุ่งยากด้านเอกสารนี้ ทางภาครัฐก็พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ โดยมีแว่วๆ มาแล้วว่า เพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล ต่อไปจะใช้วิธีบริจาคผ่าน QR code ของวัด แล้วส่งใบอนุโมทนาบัตรทาง e-mail ซึ่งตามกระบวนการนี้ ข้อมูลถูกบันทึกในข้อมูลของกรมสรรพากร สามารถตรวจสอบได้ทั้งการเงินวัด และการเงินบุคคลทั่วไป หลักฐานชัดเจน ได้หลายทางเลยทีเดียว เหมือนกลไกของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จะตามได้ทั้งคนรับและคนจ่าย

ทิ้งท้าย มีค่าลดหย่อนรายการใหม่ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคให้แก่กองทุนยุติธรรม ซึ่งจะนำเงินบริจาคในส่วนนี้ไปเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย

การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ยากไร้ ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า

ส่วนช็อปช่วยชาติ หรือสนับสนุนกินเที่ยวทั่วไทย ก็ต้องรอต่อไปว่าจะมีมาสร้างความคึกคักช่วงปลายปีนี้หรือไม่  เพราะยังอยู่ในช่วงพิจารณาทั้งวงเงินและระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ที่แน่ๆ ปี 2561 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย