posttoday

3ตัวช่วยเก็บเงินค่าเทอมลูก

17 พฤษภาคม 2560

โดย...ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

โดย...ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

การดูแลให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้เป็นพ่อและแม่ หากมองในเชิงการวางแผนการเงินแล้วเรื่องนี้ถือเป็นเป้าหมายที่ต้องจริงจังมากกว่าเรื่องอื่น

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแม้แต่เพื่อเกษียณนั้น สามารถใช้เทคนิคเลื่อนเป้าหมายเพื่อขยายระยะเวลาเก็บเงินให้เพียงพอ หรือลดจำนวนเงินเป้าหมายเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระการออมในปัจจุบันได้ แต่เราไม่สามารถเลื่อนอายุการเข้าเรียนระดับชั้นการศึกษาต่างๆ ให้นานกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และไม่สามารถให้ลูกรับการเรียนแค่ครึ่งปีการศึกษาได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการเก็บออมเงินให้ได้อย่างเพียงพอ

สิ่งที่ K-Expert จะนำมากล่าวในบทความนี้ไม่ใช่การกำหนดจำนวนเงินออมต่อเดือนเพื่อการศึกษาลูกแต่อย่างใด เพราะในทางปฏิบัติ แต่ละครอบครัวมักกำหนดงบประมาณค่าเล่าเรียนลูกไว้แล้วว่าแค่ไหนที่ตัวเราจ่ายไหว ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่เก็บเงิน “เท่าไหร่” แต่อยู่ที่การเก็บ “แบบไหน” จึงจะเอื้อไม่ให้เผลอถอนเงินเพื่อการศึกษาลูกออกมาใช้ทำอย่างอื่น

เครื่องมือการเงินที่ผมมองว่ามีความสำคัญต่อเป้าหมายนี้มีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ เงินฝากประจำแบบปลอดภาษี ประกันชีวิตเพื่อวางแผนการศึกษาบุตร และพันธบัตรรัฐบาล

ผลิตภัณฑ์การเงินเหล่านี้มีส่วนเหมือนกันอยู่สองประการ ประการแรกคือผู้เป็นลูกสามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้เป็นพ่อแม่เกิดความมุ่งมั่น (Commitment) ในการเก็บเงิน อีกประการหนึ่งคือมีกลไกในการลดแรงจูงใจ (Disincentive) หากจะถอนเอาเงินออกมาใช้ก่อนกำหนด

เงินฝากประจำแบบปลอดภาษี เป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บเงินอย่างสม่ำเสมอเป็นรายเดือน โดยกำหนดให้ฝากเงินทุกเดือน เดือนละเท่าๆ กัน จำนวน 500-2.5 หมื่นบาท เป็นระยะเวลา 24 เดือน หรือ 36 เดือน สิ่งที่จะได้รับคืออัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำแบบฝากครั้งเดียว (ข้อมูล ณ 12 พ.ค. 2560) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี 24 เดือน เท่ากับ 2.25% ต่อปี เทียบกับเงินฝากประจำแบบครั้งเดียวสองปี ซึ่งเท่ากับ 1.45% ต่อปี นอกจากนี้ ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทำให้ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

เด็กๆ ที่อายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชนแล้ว สามารถเปิดบัญชีเงินฝากนี้ในชื่อของตนเองได้เลย โดยพ่อแม่สามารถแจ้งธนาคารให้หักจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของตนเองในทุกๆ เดือนเพื่อเข้าบัญชีของลูกได้ และหากอายุยังไม่ครบ 7 ปีก็เปิดบัญชีนี้ได้เช่นกัน เพียงแต่ชื่อบัญชีจะระบุเพิ่มเติมว่าโดยบิดาหรือมารดา

การถอนเงินฝากประจำแบบปลอดภาษีก่อนกำหนดจะส่งผลให้ไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงตามที่กำหนดไว้ โดยอาจได้รับเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ หรือเงินฝากประจำ 3 เดือนแล้วแต่ระยะเวลาการฝากเงิน

ตัวช่วยเก็บเงินแบบที่สองคือ ประกันชีวิตเพื่อวางแผนการศึกษาบุตร ซึ่งเป็นประกันแบบสะสมทรัพย์ที่กำหนดให้บิดามารดาเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน ส่วนลูกเป็นผู้เอาประกันซึ่งพ่อแม่จะนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้เอาประกัน แต่มีข้อดีคือมีกำหนดการจ่ายเงินคืนอิงตามอายุของบุตร ช่วยให้พ่อแม่นำเงินส่วนนี้มาจ่ายค่าเทอมลูกได้ สามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติม เช่น สุขภาพ อุบัติเหตุ เพื่อคุ้มครองลูก หรือหากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับพ่อแม่ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ ประกันการศึกษาบุตรยังให้ความคุ้มครองต่อเนื่อง โดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน

การถอนเงินออกจากประกันด้วยการเวนคืนกรมธรรม์นั้นมีกลไกลดแรงจูงใจ โดยเงินที่จะได้รับจากการเวนคืนนั้นมักน้อยกว่าจำนวนเบี้ยประกันทั้งหมดที่จ่ายไป และหากมีการซื้อสัญญาเพิ่มเติมไว้ เมื่อเวนคืนประกันชีวิตซึ่งเป็นสัญญาหลัก ความคุ้มครองจากสัญญาแนบท้ายจะสิ้นสุดลงเช่นกัน

ตัวช่วยแบบที่สามคือ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน เป็นการลงทุนเพียงไม่กี่แบบที่บุตรผู้เยาว์สามารถมีชื่อเป็นผู้ถือครองตราสารได้ เนื่องจากการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะผ่านกองทุนรวม หลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน รวมทั้งหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนนั้น มีความเสี่ยงที่เงินต้นจะสูญหายได้ กฎหมายจึงไม่ให้เปิดบัญชีในนามของบุตรผู้เยาว์ รวมทั้งพ่อแม่ก็ไม่มีอำนาจในการให้ความยินยอมด้วย

ดอกเบี้ยที่เกิดจากพันธบัตรดังกล่าวจะถือเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์ ดอกเบี้ยนี้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และถือว่าเป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถเลือกนำดอกเบี้ยนี้ไปรวมคำนวณในแบบประเมินภาษีหรือไม่ก็ย่อมทำได้ หากมีความประสงค์จะเสียภาษีตามฐานเงินได้ที่ต่ำกว่าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไป ก็เป็นหน้าที่ของบิดาหรือมารดาเป็นผู้ยื่นแบบประเมินแทนบุตร

การถอนเงินจากพันธบัตรด้วยการขายคืนพันธบัตรในตลาดรองสำหรับตราสารหนี้อย่าง BEX ก็สามารถทำได้ แต่การขายอาจไม่คล่องตัวมากนักสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ถ้าต้องการขายให้ได้ก็ต้องยอมลดราคาพอสมควรเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ขายออกได้ไม่ง่ายนี้ หากมองอีกมุมหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือช่วยให้เก็บเพื่อบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว

เรื่องอื่นๆ อย่างการซื้อหุ้นให้ลูกเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านให้ความสนใจ แต่ติดตรงที่ไม่สามารถเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในชื่อบุตร ผู้เยาว์ได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถซื้อหุ้นในชื่อตนเองก่อนแล้ว แปลงออกมาเป็น “ใบหุ้น” เพื่อนำไปสลักหลังโอนเป็นสินทรัพย์ของลูกต่อไป

ตราสารการเงินอย่างหุ้นกู้ก็สามารถโอนได้ด้วยการสลักหลัง โดยให้นายทะเบียนหุ้นกู้ประทับตรา หรือออกใบหุ้นกู้ใหม่ในชื่อลูกผู้รับโอน แต่กองทุนรวมนั้นไม่สามารถทำการโอนแบบหุ้นหรือหุ้นกู้ได้

ท้ายสุดนี้ต้องบอกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านั้นถือเป็นเพียงแนวทาง ที่จะหนุนให้พ่อแม่เก็บเงินเพื่อลูกได้ดีขึ้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือความตั้งใจของพ่อแม่ที่จะลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและมีวินัยเก็บเงินอย่างจริงจัง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตระหนักรู้ว่าลูกไม่ได้ต้องการเงินค่าเทอม แต่ต้องการ “เวลา” ที่พ่อแม่จะคอยอยู่ข้างๆ สอนการบ้าน ให้คำตอบสิ่งที่สงสัย หรือเล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อแนะแนวทางดำเนินชีวิตให้ สิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่าเงินอย่างมากมาย