posttoday

3 สัญญาณอันตรายที่เตือนว่า หนี้กำลังจะท่วมชีวิตคุณ

28 กุมภาพันธ์ 2560

หากใครมีหนี้ตรวจเช็กกันให้ดีครับว่าเราอยู่ในระดับอาการไหน ร้ายแรงแค่ไหน แล้วเริ่มต้นคิดหาทางหยุดหนี้

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์ THE MONEY COACH

“หนี้” ถือได้ว่าเป็นมหันตภัยทางการเงินที่อยู่กับคนเรามาทุกยุคทุกสมัย สร้างปัญหาให้กับคนที่ใช้มันไม่ถูกวิธี ทั้งสภาวะทางการเงิน การดำรงชีวิต รวมไปถึงสภาพความคิดและจิตใจของผู้คนมานักต่อนัก ดังนั้นคงจะเป็นการดีหากเราจะรู้จักจับสัญญาณอันตรายจากหนี้ที่พร้อมจะเล่นงานชีวิตของเราได้ก่อนที่มันจะทำร้ายชีวิตเรา

สัญญาณอันตรายจากหนี้ที่คนเราควรหมั่นตรวจสอบ เรียงลำดับตามความรุนแรงของอาการจากน้อยไปหามากได้ดังต่อไปนี้

1) เริ่มชำระขั้นต่ำ

อันนี้เป็นสัญญาณเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร ยิ่งถ้ายังเหลือเงินในแต่ละเดือนพอส่งขั้นต่ำได้ ก็จะยังปล่อยเฉยกับปัญหานี้ต่อไป แต่ถ้ามองกันให้ดี การจ่ายขั้นต่ำก็คือการสะท้อนว่าเราไม่มีปัญญาจ่ายเต็มจำนวน และถ้ายังมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือสร้างหนี้เพิ่มตลอดเวลา วันหนึ่งก็จะเข้าสู่การขาดสภาพคล่องในที่สุด

การผ่อนชำระขั้นต่ำของการใช้บริการบัตรเครดิต มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 20% ในขณะที่การผ่อน 0% 10 เดือนนั้น หากเบี้ยวชำระไม่จ่ายจะมีค่าปรับเสริมเข้ามาให้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรคิดให้ดีก่อนใช้บริการ

Minimum Payment = Maximum Pain หรือการจ่ายขั้นต่ำ คือ จุดเริ่มต้นของความเจ็บปวดขั้นสูงสุดเสมอ ถ้าวันนี้คุณกำลังจ่ายขั้นต่ำอยู่ หยุดสร้างหนี้เพิ่มเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยครับ หรือถ้ากำลังผ่อนศูนย์เปอร์เซ็นต์หลายๆ รายการพร้อมกัน ก็ต้องหยุดพิจารณาสถานะการเงินของตัวเองกันได้แล้ว

2) เงินผ่อนชำระหนี้เกินกว่า 40% ของรายได้

อันนี้เป็นปัญหาในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปอยู่เหมือนกัน ซึ่งหากผู้ก่อหนี้ไม่สังเกต กว่าจะรู้ตัวอีกทีการเงินก็เริ่มจะหนักและตึงมือขึ้นเรื่อยๆ

วิธีคำนวณก็คือ ให้เอารายจ่ายจากหนี้ทั้งหมดของเราในแต่ละเดือน ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อ หนี้ผ่อนของ ฯลฯ รวมกันแล้วหารด้วยเงินเดือน (หรือรายได้) แล้วคูณด้วย 100 หากผลลัพธ์สุดท้ายได้ตัวเลขเกินกว่า 40% ก็แสดงว่าชีวิตเริ่มตึงๆ ขยับไม่ค่อยได้ และเสี่ยงต่อความผิดพลาดทางการเงินได้สูง

ตัวอย่างเช่น หากเรามีรายได้เดือนละ 4 หมื่นบาท ส่งบ้านเดือนละ 1.2 หมื่นบาท ส่งรถเดือนละ 8,000 บาท จ่ายสินเชื่อส่วนบุคคลที่กู้มาเรียนต่อปริญญาโทเดือนละ 4,000 บาท รวมมีรายจ่ายต่อเดือนจากหนี้ 2.4 หมื่นบาท หรือคิดเป็น 60% นั่นเอง อันนี้จะถือว่าน่ากลัวมาก

ทำไม? การมีรายจ่ายหนี้ในอัตราส่วนเกิน 40% ถึงเป็นปัญหา...

ก็เพราะทันทีที่เราได้รับเงินเดือน เราไม่ได้มันทั้ง 100% นะสิ ไหนจะภาษี ไหนจะประกันสังคม ไหนจะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (แค่นี้ก็หมดไปร่วม 20%) แล้ว ดังนั้นถ้าเรามีรายจ่ายอื่นๆ ยิบย่อยลงไปอีกเราก็แทบจะไม่เหลือกินเหลือใช้เลยนั่นเอง (นี่ยังไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ และอื่นๆ อีกนะ)

ดังนั้น หากรายจ่ายหนี้รายเดือนของคุณแตะระดับ 40% ของรายได้ ก็ควรตั้งสติกลับมาหาทางแก้ไขได้แล้ว (ที่จริง 30% ก็ควรร้อนใจได้แล้ว)

3) กู้เงินมาผ่อนค่างวด

การกู้หนี้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าและผ่อนต่อเดือนน้อยกว่าเดิม เพื่อมาโปะหนี้เก่าที่มีถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และควรทำ (ภาษาการเงินเขาเรียก “รีไฟแนนซ์”)

แต่หากถึงขั้น “กู้มาส่งค่างวด” ให้พ้นไปอีกเดือน แบบนี้หนักแน่ครับ ทั้งนี้เพราะการกู้ส่งค่างวดไม่ได้ทำให้หนี้หมดไป เพียงแต่ช่วยต่อลมหายใจอันรวยรินให้ยังพอไปต่อได้เท่านั้น

โดยทั่วไปแล้วคนที่ดำเนินชีวิตมาถึงอาการระยะที่ 3 นี้ จะเริ่มกู้มั่วไปหมด เพราะคิดแต่แก้ปัญหาในระยะสั้น เริ่มจากกู้ในระบบจนหมดเครดิต แล้วเลยพานไปสู่การกู้นอกระบบที่อัตราดอกเบี้ยแพงมหาโหด และไม่มีทางทำให้คุณออกจากปัญหาหนี้ได้แน่ๆ และจะว่าไปการกระทำในลักษณะนี้จะเข้าข่ายที่เรียกว่า “เสพติดหนี้” เข้าให้แล้ว

ใครที่ไม่มีหนี้เลยก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ แต่หากใครมีหนี้ตรวจเช็กกันให้ดีครับว่าเราอยู่ในระดับอาการไหน ร้ายแรงแค่ไหน แล้วเริ่มต้นคิดหาทางหยุดหนี้กันได้แล้วตั้งแต่วันนี้

ติดตามข้อมูลความรู้การเงินส่วนบุคคลที่ถูกต้องเพื่อคนไทยทั้งประเทศได้ที่ เฟซบุ๊ก : มูลนิธิคนไทยฉลาดการเงิน