posttoday

ธปท.ปลดแอกลงทุน ดันเงินไทยไหลออกนอก

22 มกราคม 2561

เมื่อผ่อนคลายให้ลงทุนต่างประเทศสะดวกขึ้นแล้วคงต้องมาลุ้นต่อไปว่า เงินไทยไหลออกจะมากพอถ่วงดุลเงินไหลเข้าแค่ไหน

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

เปิดต้นปีมาเงินบาททำสถิติแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้เทียบในภูมิภาคจะไม่ได้แข็งค่าที่สุด แต่ก็แข็งค่าอันดับสองรองจากเงินริงกิตมาเลเซีย ซึ่งปัจจัยหลักมาจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยต่อเนื่อง จากการที่นักลงทุนไม่เชื่อมั่นลงทุนในสหรัฐอเมริกา

จากความท้าทายนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามใช้เครื่องมือหลายอย่าง เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไปจนไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้น คือ ผ่อนคลายให้นักลงทุนไทยลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันเงินไหลเข้า

วชิรา อารมย์ดี เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ออกประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารต่างประเทศและอนุพันธ์ (ฉบับที่ 4) และประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารต่างประเทศและอนุพันธ์ของบุคคลรายย่อย (ฉบับที่ 3) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการลงทุนและกระจายความเสี่ยง

ใจความสำคัญของประกาศมี 4 ประเด็น ประเด็นแรก ได้ผ่อนคลายให้นิติบุคคลไทยและบุคคลไทยที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุนในตราสารและอนุพันธ์รวม 50 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 100 ล้านบาท ลงทุนในตราสารต่างประเทศและอนุพันธ์ได้โดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศ

มีข้อแม้คือเงินที่ออกไปลงทุนต้องไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ราย/ปี โดยลงทุนในตราสารต่างประเทศและอนุพันธ์ที่อ้างอิงตัวแปรต่างประเทศได้ทุกประเภท ส่วนประเทศที่ลงทุนได้ คือประเทศสมาชิกอาเซียนหรือประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นสมาชิกขององค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นานาชาติ ซึ่งมีชื่อย่อว่า ไอโอเอสซีโอ หรือให้เปิดบัญชีลงทุนในประเทศเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทุนเหล่านี้จะลงทุนผ่านตัวแทนลงทุนในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ หรือลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล ก็ลงทุนเพิ่มได้อีกในวงเงินที่ได้รับจัดสรรจาก ก.ล.ต.

ประเด็นต่อมาคือเพิ่มประเภทของตัวแทนการลงทุนที่เป็นตัวกลางให้ผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในตราสารต่างประเทศ โดยให้นับรวมผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทต่างๆ ทุกประเภทจาก ก.ล.ต.ด้วย แต่ก็เป็นตัวแทนการลงทุนได้ภายใต้ขอบเขตที่ ก.ล.ต. อนุญาตมาเท่านั้น

ขณะที่ประเด็นที่ 3ได้ปรับปรุงเรื่องรายการเอกสารหลักฐานในการซื้อ แลกเปลี่ยน หรือถอนเงินตราต่างประเทศ โดยให้ผู้ลงทุนที่ได้รับวงเงินจัดสรรจาก ก.ล.ต. เช่น ผู้ลงทุนสถาบันที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบุคคลรายย่อย ยื่นเอกสารที่แสดงว่าได้รับวงเงินจัดสรรจาก ก.ล.ต.ได้ไม่เกินวันรับมอบส่งมอบเงินตราต่างประเทศ พร้อมทั้งได้ลดรายการเอกสารหลักฐานในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกรณีขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า

ทั้งนี้ ให้ยื่นเอกสารแสดงการเป็นผู้ลงทุน หรือบุคคลรายย่อยที่ได้รับจัดสรรเงินลงทุน และหนังสือรับรองว่ายอดคงค้างทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงของผู้ลงทุนกับทุกธนาคารพาณิชย์ไม่เกินมูลค่าเงินลงทุน เอกสารเหล่านี้ยื่นเป็นรายครั้งหรือรายปีก็ได้

ด้านประเด็นสุดท้าย ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์อื่น เช่น ผ่อนคลายให้ผู้ลงทุนชำระเงินหรือรับชำระเงินลงทุนในอนุพันธ์อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เกี่ยวกับเงินบาท เป็นเงินบาทหรือสกุลเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นคู่สัญญาได้

เมื่อผ่อนคลายให้ลงทุนต่างประเทศสะดวกขึ้นแล้วคงต้องมาลุ้นต่อไปว่า เงินไทยไหลออกจะมากพอถ่วงดุลเงินไหลเข้าแค่ไหน