posttoday

ธปท.เปิดยุทธศาสตร์แผน3ปี

03 มกราคม 2561

เร่งพัฒนาระบบชำระเงิน เตรียมขยายบริการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคาร ต่อยอดระบบพร้อมเพย์ภายในไตรมาสแรกปีหน้า

เร่งพัฒนาระบบชำระเงิน เตรียมขยายบริการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคาร ต่อยอดระบบพร้อมเพย์ภายในไตรมาสแรกปีหน้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์การทำงาน ในช่วงปี 2560-2562 ว่ามีพันธกิจจะมุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึงใน 3 ด้าน คือ 1.ด้านเสถียรภาพการเงิน เสถียรภาพ ระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพการชำระเงิน 2.ด้านการพัฒนาระบบการเงิน การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการ เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงเป็นธรรมและยั่งยืน และ 3.เสริมสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร การจัดทำระบบและวิเคราะห์ข้อมูล ความเป็นเลิศในงานวิจัย การยกระดับศักยภาพของบุคลากรและองค์กร การสร้างเสริมการมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ส่วนแผนการชำระเงินฉบับที่ 4 (2561-2563) จะส่งเสริมให้เกิดบริการต่อยอดจากระบบพร้อมเพย์ โดย ส่งเสริมให้เกิดบริการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคาร (Bill Payment) และบริการเรียกเก็บเงิน (Request to Pay) ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2560) มีผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ 37.1 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น บัตรประชาชน 25.4 ล้านเลขหมาย หมายเลขโทรศัพท์มือถือ 11.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบการเงินและการชำระเงินเพื่อรองรับผลกระทบจากเทคโนโลยี (Disruptive Technology)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลการโอนเงินและชำระเงิน ซึ่งจะทำให้ ธปท.มีข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ได้กว้างขึ้น รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากบริษัทประกัน บริษัทจดทะเบียนในตลาด และสหกรณ์ออมทรัพย์ ฯลฯ มาใช้ในการจัดทำวิเคราะห์ข้อมูลได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ธปท.ยังจะต้องดูแลเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลความลับลูกค้าด้วย

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธปท. กล่าวว่า แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานตามภารกิจหลายด้านมากขึ้น แต่ ธปท.ก็ไม่มีนโยบายที่จะมีการปรับลดจำนวนพนักงานลง ทั้งนี้โดยเฉลี่ยจะมีพนักงานอยู่ที่ 3,700-3,800 คน มาอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกันมีการพัฒนาบุคลากรโดยเปิดให้ได้เรียนรู้ในหลายส่วนงานได้มากขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและทำให้บุคลากรของ ธปท.สามารถทำงานได้รอบด้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกปี ธปท.จะมีการเปิดโครงการให้สมัครใจลาออก (เออร์ลี่ รีไทร์) เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่ไม่สามารถปรับตัวได้สมัครใจออกจากงานได้