posttoday

ธปท.หนุน "ธนาคาร" ลดค่าธรรมเนียม

26 ธันวาคม 2560

ธปท.ชี้ธนาคารพาณิชย์ปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ได้ดี หนุนคิดค่าธรรมเนียม-ดอกเบี้ยเหมาะสมขึ้น

ธปท.ชี้ธนาคารพาณิชย์ปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ได้ดี หนุนคิดค่าธรรมเนียม-ดอกเบี้ยเหมาะสมขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อธุรกิจการเงินทำให้รูปแบบการให้บริการเปลี่ยนไป จากการมีเทคโนโลยีการเงินใหม่ๆ เข้ามา ทั้งนี้ ธปท.มีการส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมทางการเงินมากขึ้น และส่งเสริมให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาให้บริการทางการเงิน ทำให้ประชาชนและนักธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำและด้วยราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ สถาบันการเงินไทยไม่มีปัญหาการปรับตัวกับเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันไทยมีการพัฒนาระบบการชำระเงิน ทั้งพร้อมเพย์และระบบคิวอาร์โค้ดได้เร็ว จากความร่วมมือของสถาบันการเงินไทยที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ก็ช่วยให้การบริการทำได้รวดเร็ว ปลอดภัย และมีค่าบริการที่ถูกลง และทำให้รูปแบบการให้บริการทางการเงินต้องเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ดี ขณะนี้สบายใจได้ระดับหนึ่ง เพราะระบบสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะดูในเรื่องเงินกองทุน ความสามารถในการหารายได้ และการปรับตัว ซึ่งทำได้ดีพอสมควร

“เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาและเกี่ยว ข้องกับบริการทางการเงินอย่ามองเป็นแค่ความท้าทายอย่างเดียว เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเป็นทั้งโอกาสและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน รวมถึงการนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง ทำให้สามารถบริการลูกค้าแบบแบ่งเป็นกลุ่มแยกเซ็กเมนต์ได้ดีขึ้น ประมวลความเสี่ยงได้เท่าทันมากขึ้น คิดค่าธรรมเนียม และคิดอัตราดอกเบี้ยได้เหมาะสมขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสร้างความมั่นคง” นายวิรไท กล่าว

สำหรับกรณีธนาคารพาณิชย์ที่มีการปิดสาขานั้น เนื่องจากรูปแบบสาขาอาจไม่เหมาะสมในการให้บริการบางกลุ่ม ดังนั้น ธปท.ได้เริ่มอนุญาตให้ตั้งเพย์เมนต์เอเยนต์และแบงก์กิ้งเอเยนต์สำหรับลูกค้าในพื้นที่ห่างไกล หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นแขนขาให้กับสถาบันการเงินในการให้บริการลูกค้าแบบเฉพาะหน้าได้ ช่วยลดต้นทุนให้บริการและไม่ปิดกั้นความต้องการใช้บริการของลูกค้าบางกลุ่มที่ยังอาจไม่เท่าทันด้วย

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเปิดให้ธนาคารพาณิชย์มีตัวแทนการให้บริการ (เอเยนต์) ได้ เพราะต้องการสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน ซึ่งอนุญาตให้ทำได้ในหลายรูปแบบ ซึ่งการดูแลเอเยนต์ธนาคารพาณิชย์จะควบคุมดูแลความเสี่ยงเสมือนตัวเองให้บริการ ไม่ว่าการทำหน้าที่รับเงิน จ่ายเงิน ธนาคารก็ต้องมีการตรวจสอบการบริหารจัดการภายใน และดูแลความปลอดภัยให้อยู่ในมาตรฐาน และธนาคารพาณิชย์เองต้องไปควบคุมเพื่อดูแลให้มั่นใจ แต่จำกัดขอบเขตการให้บริการ เช่น ไปรษณีย์ไทย ฯลฯ ดังนั้นแม้จะเปิดให้มีเอเยนต์ได้ก็ไม่กระทบกับการดูแลความเสี่ยงของธนาคาร

ทั้งนี้ ธปท.รายงานข้อมูลล่าสุด ในเดือน พ.ย. 2560 พบว่า ทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์สาขา 6,800 สาขา ลดลง 201 สาขา เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันก่อนหน้าที่มี 7,001 สาขา เป็นการทยอยปรับลดจำนวนสาขาลงต่อเนื่องของธนาคารขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และต่างจังหวัด