posttoday

ผุดสถาบันการเงินประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำเข้าถึงเงินทุน

11 ธันวาคม 2560

คลังเร่งออกกฎหมายสถาบันการเงินประชาชน หนุนเป็นนิติบุคคล ที่พึ่งด้านธุรกรรมการเงินฐานราก

คลังเร่งออกกฎหมายสถาบันการเงินประชาชน หนุนเป็นนิติบุคคล ที่พึ่งด้านธุรกรรมการเงินฐานราก

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินประชาชน ขึ้นเป็นกฎหมายฉบับใหม่แทนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีวัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อต้องการให้มีกฎหมายรองรับองค์กรการเงินระดับฐานราก แต่ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และมีความคล่องตัวในการจัดทำร่างกฎหมายมากยิ่งขึ้น

“หลังจากนี้จะมีการเปิดรับฟังความเห็น จากนั้นจะมีการสรุปเพื่อเสนอ รมว.คลัง และให้ ครม.พิจารณา โดย สศค.จะต้องเร่งทำร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างรวดเร็วเพื่อให้รับรองสถานะของสถาบันการเงินระดับชุมชน ตามนโยบายของนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ปีหน้า” นายสุวิชญ กล่าว

สำหรับสถาบันการเงินประชาชน คือองค์กรการเงินระดับชุมชนที่ให้บริการการเงินระดับชุมชน ครอบคลุมถึงการรับฝากเงิน การให้สินเชื่อ การเช่าซื้อ การรับจำนำ การรับจำนอง การรับชำระเงิน การโอนเงิน หรือการอื่นใดที่เป็นการให้บริการการเงินในระดับชุมชนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. ... ซึ่งจะเป็นกฎหมายใหม่ เพื่อรับรองสถานะองค์กรการเงินระดับชุมชนให้มีสภาพความเป็นนิติบุคคล และบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการเงินให้แก่ชุมชนระดับฐานราก ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ เนื่องจากองค์กรการเงินระดับฐานรากที่มีอยู่ในปัจจุบันยังให้บริการทางการเงินได้ไม่ครบถ้วน ขาดความยั่งยืน ขาดความมั่นคงด้านการจัดการ บริหารความเสี่ยง และด้านบัญชี ยังพึ่งพาการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตัวบุคคล เนื่องจากการขาดสภาพความเป็นนิติบุคคล ขาดการกำกับดูแล และขาดการสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานทางการเงิน รวมทั้งยังไม่มีการบูรณาการฐานข้อมูลการเงินระดับฐานราก

นอกจากนี้ ดังนั้นการรับรองสภาพความเป็นนิติบุคคลขององค์กรการเงินระดับชุมชนเป็นสถาบันการเงินประชาชน จะทำให้สมาชิกเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้ทั่วถึง และมีบรูณาการข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่ครบถ้วน จะทำให้รัฐสามารถวางกรอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาการเงินฐานรากให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงเป็นเป้าหมายสำคัญของภาครัฐ จะช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียมด้านการเงินให้แก่ประชาชน แต่เนื่องจากองค์กรการเงินระดับฐานรากที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนมากยังให้บริการทางการเงินไม่ครบถ้วน ขาดความยั่งยืนจากการเน้นพึ่งพาตัวบุคคลเป็นหลัก เมื่อต้องเปลี่ยนบุคคลผู้เป็นแกนนำ ขาดความมั่นคงจากข้อจำกัดด้านการจัดการ ด้านบริหารความเสี่ยงและด้านบัญชี และระดับภาพรวม ภาครัฐก็ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในเรื่องนโยบาย ประชาชนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน ทำให้ต้องพึ่งแหล่งเงินนอกระบบ อาจก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้างได้” นายสุวิชญ กล่าว