posttoday

"ไอแบงก์"ฟื้นตัวให้กู้รายใหญ่ได้

27 พฤศจิกายน 2560

คลังยิ้มออก ไอแบงก์ผลงานเริ่มฟื้น หลัง ธปท.ปลดล็อกปล่อยกู้รายใหญ่ได้

คลังยิ้มออก ไอแบงก์ผลงานเริ่มฟื้น หลัง ธปท.ปลดล็อกปล่อยกู้รายใหญ่ได้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ปรับตัวดีขึ้นมา หลังจากนายวิทัย รัตนากร เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารคนใหม่ ซึ่งได้เร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้การทำงานของธนาคารเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การปล่อยสินเชื่อของไอแบงก์ปรับตัวดีขึ้นมาก จากก่อนหน้านี้ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้เลย สวนทางกับเงินฝากที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระต้นทุนของธนาคาร โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุมัติให้ไอแบงก์สามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ มูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาทได้ จากเดิมให้ปล่อยเฉพาะรายย่อยที่ไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น

“หากไม่ให้ไอแบงก์ปล่อยกู้รายใหญ่เลย ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะเงินฝากมีมากกว่าเงินกู้ที่ปล่อยไป ทำให้ไอแบงก์มีต้นทุนสูง และ ธปท.ก็ดูอย่างรอบคอบแล้วว่าการดำเนินงานของไอแบงก์ดีขึ้นจนสามารถผ่อนผันให้กลับมาปล่อยกู้รายใหญ่ได้อีกครั้ง”นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวถึงความคืบหน้าในการหาพันธมิตรรายใหม่ ว่า ขณะนี้มีผู้สนใจหลายรายและตอนนี้ได้ปิดรับการยื่นแสดงความสนใจแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการพิจารณาข้อเสนอของพันธมิตรแต่ละแห่งที่ยื่นเข้ามา และคัดสรรพันธมิตรที่ดีที่สุดเพื่อร่วมทุนกับไอแบงก์ โดยคาดว่าจะใช้เวลาระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของการเพิ่มทุนให้ไอแบงก์นั้น เงินก้อนแรกที่มาจากงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว แต่ยังรอการแก้ไขกฎหมายของธนาคารเอง ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเปิดทางให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นได้เกิน 49% คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เร็วๆ นี้ และคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน เพราะเป็นการแก้ไขกฎหมายเพียงมาตราเดียว

สำหรับการเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ มีวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือมาจากเงินกองทุนแบงก์รัฐ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยเพิ่มทุนให้ตามผลการดำเนินงานของไอแบงก์ โดยเฉพาะการหาพันธมิตร หากทำได้เร็วก็จะได้รับการเพิ่มทุนเร็วขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานของบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) มีการโอนหนี้เสียของไอแบงก์มาแล้ว จำนวน 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่ง IAM รับซื้อในราคา 50% โดยมีการออกตั๋วเงินให้กับไอแบงก์แล้ว