posttoday

ธกส.ขอขยาย เพดานสินเชื่อ ช่วยรายย่อย

20 พฤศจิกายน 2560

ธ.ก.ส.ชงคลังขอขยายเพดานสินเชื่อรายย่อยกรณีฉุกเฉินเพิ่ม หลังวงเงินก้อนแรกกำลังจะเต็ม 5,000 ล้าน

ธ.ก.ส.ชงคลังขอขยายเพดานสินเชื่อรายย่อยกรณีฉุกเฉินเพิ่ม หลังวงเงินก้อนแรกกำลังจะเต็ม 5,000 ล้าน

นายนุกูล ปาระชาติ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง รายงานความคืบหน้าของโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบกรณีฉุกเฉินกู้ได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ราย คิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 0.85% ต่อเดือน ระยะเวลาการชำระเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ซึ่งมีวงเงินปล่อยกู้ 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ล่าสุด ธ.ก.ส.ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 4,800 ล้านบาท คาดว่าเร็วๆ นี้จะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้เต็มวงเงิน จึงได้ทำเรื่องเพื่อเสนอกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาขยายกรอบวงเงินสินเชื่อในโครงการนี้ออกไป เพื่อรองรับกับจำนวนเกษตรกรที่ลงทะเบียนว่ามีปัญหาหนี้นอกระบบอยู่ราว 4.6 แสนราย

สำหรับความคืบหน้าโครงการประกันภัยนาข้าวปี 2560 ยอด ณ เดือน พ.ย. 2560 ธ.ก.ส. ร่วมกับ บริษัทประกันภัย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จ่ายสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรที่ทำประกันภัยไว้แล้ว 5.2 หมื่นราย เป็นพื้นที่นาข้าวเสียหายกว่า 4.39 แสนไร่ เป็นเงิน 553 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในปีการผลิต 2560 มีเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.และเกษตรกรทั่วไปเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีแล้ว 1.58 ล้านราย คิดเป็นพื้นที่ 23.76 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 2,299 ล้านบาท

ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารมีผู้มาติดต่อขอเข้าโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินจำนวน 1.51 แสนราย ซึ่งพิจารณาแล้ว 8.4 หมื่นราย ในจำนวนนี้ได้รับการอนุมัติ 5 หมื่นราย คิดเป็นวงเงิน 2,000 ล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะให้สินเชื่อได้ 1 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 4,200 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้พ้นความยากจน โดยอาจจะให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าปกติและให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รายได้ระยะที่ 2 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งศึกษาใน 4 ด้าน เพื่อเพิ่มโอกาสด้านต่างๆ ให้กับผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ 1.โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ 2.โอกาสในการศึกษาฝึกอบรมอาชีพ 3.โอกาสในการหางานทำ และ 4.โอกาสในการเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นกับชีวิต หรือปัจจัย 4 ซึ่งจะมีการนำเสนอ ครม. ในเร็วๆ นี้