posttoday

หนี้สาธารณะเพิ่ม7.9หมื่นล.

18 กรกฎาคม 2560

หนี้สาธารณะเดือน พ.ค. ขยับเป็น 42.9% ของจีดีพี สบน.เผยหนี้เพิ่มเพราะปรับโครงสร้างหนี้ 6.5 หมื่นล้าน

หนี้สาธารณะเดือน พ.ค. ขยับเป็น 42.9% ของจีดีพี สบน.เผยหนี้เพิ่มเพราะปรับโครงสร้างหนี้ 6.5 หมื่นล้าน

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พ.ค. 2560 มีจำนวน 6.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 42.90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 7.9 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 4.9 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 9.71 แสนล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน รัฐบาลค้ำประกัน 4.46 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 1.75 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ หนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 8.82 หมื่นล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่กู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน  ที่จะครบกำหนดในวันที่ 16 มิ.ย. 2560 วงเงิน 1.62 แสนล้านบาท และยังกู้เงินตามแผนงบประมาณรายจ่าย 3.02 หมื่นล้านบาท

สำหรับการกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศมี 1,935 ล้านบาท แบ่งเป็น การกู้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เบิกจ่ายเงินกู้ 1,020 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 588 ล้านบาท ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 351.95 ล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต 47 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง 428.71 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน 379 ล้านบาท และสายสีเขียว 106  ล้านบาท ยังมีการกู้บาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ 2,293 ล้านบาท การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 10,361 ล้านบาท หนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิ 338.77 ล้านบาท

นอกจากนี้ สบน.ได้จัดการทำบอนด์ สวิชชิ่งปรับโครงสร้างหนี้ในปีงบประมาณ 2560 ได้ครบตามวงเงินที่ระบุในแผนงานจำนวน 9 หมื่นล้านบาท โดยการดำเนินธุรกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ของพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตร และส่งเสริมการบริหารจัดการพอร์ตหนี้ของรัฐบาลให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการเข้าร่วมทำธุรกรรมเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผลการทำบอนด์สวิชชิ่งสามารถลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้รัฐบาลและยืดอายุคงเหลือเฉลี่ยของซอร์สบอนด์ (Source Bond) จาก 1 ปี 8 เดือน เป็นอายุเฉลี่ย 25 ปี 2 เดือน ส่วนในด้านต้นทุนนั้น สามารถลดภาระต้นทุนเฉลี่ยจาก 4.01% เหลือ 3.52%