posttoday

หุ้นนิคมอุตสาหกรรมน้ำหนักน้อยกว่าตลาด

11 มกราคม 2557

โดย...บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส

โดย...บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส

การเมืองไม่มีเสถียรภาพ กระทบบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชน ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ได้มีการปรับลดประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2557 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 4.3%

เนื่องจากการเมืองในประเทศไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างชาติที่ชะลอการตัดสินใจเข้ามาในไทย ขณะที่โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาลที่หยุดชะงักลง ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคลดลง ส่งผลต่อแนวโน้มและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติให้ปรับตัวลดลงตาม ดังนั้น จึงลดน้ำหนักหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมลงจากเท่าตลาดเป็นน้อยกว่าตลาด

ทั้งนี้ ยอดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติช่วง 11 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 3.87 แสนล้านบาท ชะลอตัว 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ลดลงเหลือ 7.91 แสนล้านบาท ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทยเป็นอันดับ 1 เริ่มลดน้ำหนักการลงทุนลง ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน มีโอกาสที่เห็นการลงทุนใหม่ลดลงต่อเนื่องในปี 2557

นอกจากนั้นยังปรับลดยอดขายที่ดินปี 2557 ลงเหลือ 2,800 ไร่ ทำให้กำไรปกติ ลดลง 6.8% ยอดขายที่ดินใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมมีทิศทางสอดคล้องกับตัวเลข เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ โดยในปี 2556 บริษัทในกลุ่มนิคมที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส   ศึกษา มียอดขายที่ดินใหม่จำนวน 3,200 ไร่ ประกอบด้วย   บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) 1,000 ไร่ บริษัท   เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) 2,200 ไร่ และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ไม่เปิดเผยลดลงจากปี 2555 ที่ขายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7,800 ไร่

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ได้ปรับลดประมาณการยอดขายที่ดินปี 2557 ลง 20% เหลือ 2,800 ไร่ ซึ่งเป็นระดับอนุรักษนิยมในกรณีที่ปัญหาการเมืองยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อประมาณการกำไรปี 2557 ปรับลดลง 6.8% เหลือ 6,660 ล้านบาท ซึ่งบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ AMATA เพราะมีสัดส่วนรายได้จากการขายที่ดินถึง 63% และ   ผลจากยอดขายระดับต่ำในปีก่อน ทำให้ยอดงานในมือที่รอรับรู้รายได้ในปีนี้ไม่สูง

ตรงข้ามกับ ROJNA ที่มีสัดส่วนรายได้จากการให้บริการสาธารณูป โภคสูงสุด 65% ทำให้การพึ่งพาธุรกิจขายที่ดินอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่ HEMRAJ ที่มียอดขายสูงสุดในปีก่อน ทำให้มียอดงาน|ในมือยังอยู่ในระดับสูง ลดน้ำหนักเป็น “น้อยกว่าตลาด” เลือกลงทุน HEMRAJ และ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON)

ด้วยแนวโน้มยอดขายที่ดิน|ที่ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว และกำไรปกติของกลุ่มปี 2557 ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 7.5% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเติบโตกำไรต่อหุ้น ของตลาด โดยเลือกซื้อหุ้นที่มีโอกาสกำไรสูงขึ้น และเงินปันผลที่จูงใจเพียง HEMRAJ (มูลค่าที่เหมาะสม 3.67 บาท) เพราะมีการกระจายฐานรายได้ดีที่สุดในกลุ่ม รวมถึงจะมีกำไรพิเศษจากการขายโรงงานเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ HPF ในงวดไตรมาส 4 ปี 2556 รวมถึง TICON (มูลค่าที่เหมาะสม 21.35 บาท) ที่มีรายได้หลักมาจากการปล่อยเช่าโรงงาน/คลังสินค้า และมีอัตราผลตอบแทนปันผลสูงสุดในกลุ่ม 7%