posttoday

รถไฟฟ้ากรุงเทพทางสะดวก

21 ตุลาคม 2556

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

ภายหลังคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เห็นชอบแผนเพิ่มทุนของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) จำนวน 8,550 ล้านหุ้น หุ้นละ 1 บาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็นับว่าสถานการณ์เพิ่มทุนของ BMCL ค่อนข้างราบรื่น เมื่อผนวกกับการที่บริษัท ช.การช่าง (CK) ก็ยืนยันว่าจะใช้สิทธิในการเพิ่มทุนในครั้งนี้ด้วย

ทั้ง รฟม.และ CK นับว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 25% และ 24.6% ใน รฟม.ที่จะต้องใช้สิทธิลงคะแนนเสียงให้มีการเพิ่มทุนในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น BMCL ในวันที่ 11 พ.ย.นี้

แหล่งข่าวจาก รฟม. เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ รฟม.จะเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อคงสิทธิการถือหุ้น 25% หรือเพิ่มทุนอีก 2,137.5 ล้านบาท เพราะการเพิ่มทุนจะมีส่วนทำให้แผนการดำเนินงานในอนาคตและตัวเลขทางบัญชี ตลอดจนสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่สูงมาก เพราะแนวโน้มและทิศทางในอนาคตหลังจากโครงข่ายรถไฟฟ้ามีความสมบูรณ์จะทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นได้ตามแผนที่กำหนดไว้

“ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ เชื่อว่ามติเพิ่มทุนน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เพราะได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้นหลักถึงความจำเป็นของการเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) จาก 33 เท่า ลดเหลือ 1.4 เท่า และมีทุนในการลงทุนและดำเนินธุรกิจต่อไป

“โดยปกติ รฟม.ในฐานะผู้ถือหุ้น BMCL สัดส่วน 25% มักจะใช้สิทธิงดออกเสียงในทุกวาระของการประชุมผู้ถือหุ้น และหากวาระดังกล่าวทาง รฟม.งดออกเสียงตามปกติ วาระเพิ่มทุนดังกล่าวน่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เพราะใช้เสียงข้างมาก เว้นแต่ว่าทาง รฟม.จะใช้สิทธิไม่เห็นด้วย แต่เชื่อว่าทาง รฟม.คงจะไม่ปล่อยให้ล้ม เพราะหากล้มจะทำให้ BMCL ไม่สามารถเดินรถได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก”ชัยวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในกรณีวาระมติเพิ่มทุนผ่านและทาง รฟม.จะไม่ใช้สิทธิเพิ่มทุน ก็ไม่ได้มีผลกระทบ เพราะได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่นทุนเกินจำนวนสิทธิที่ได้รับ และทาง CK แสดงความจำนงจะเข้ารับซื้อหุ้นที่เหลือจากการขาย รวมถึงในส่วนของ รฟม.ด้วย ซึ่งมีโอกาสให้ CK กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนสูงถึง 34% และกรณี รฟม.ไม่ใช้สิทธิจะถูกผลกระทบสัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเหลือ 15%

“ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ CK กล่าวว่า มั่นใจในการเพิ่มทุนของ BMCL จำนวน 8,550 ล้านบาท เป็นอย่างมาก โดยบริษัทจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับบุคคลในวงจำกัด 4,200 ล้านบาท (หุ้นละ 1 บาท) และใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2,000 ล้านหุ้น ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมอย่างแน่นอน

การเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อ BMCL อย่างมาก เพราะสามารถนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนหนี้ ลดดอกเบี้ยและเพิ่มส่วนทุน ส่วนเงินที่เหลือก็เพียงพอที่จะไปใช้ดำเนินงาน

ปัจจุบัน BMCL มีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากแม้จะขาดทุนอยู่บ้าง แต่คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 2559 จากรายได้ค่าโดยสารและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่มากขึ้น และหากสามารถเปิดให้บริการสายสีม่วงได้ก่อนกำหนด จะทำให้ BMCL มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากทันที โดยในส่วนสายสีม่วงนี้บริษัทเป็นผู้จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าให้แก่ BMCL ด้วย

นอกจากนี้ การที่ส่วนทุนของ BMCL แข็งแกร่งขึ้นจะทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง และเป็นการเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเพื่อให้บริการในรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยเฉพาะสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-บางซื่อ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากสายสีน้ำเงินที่ BMCL ให้บริการอยู่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสีชมพู ซึ่งเป็นระบบโมโนเรล

โครงการไฮสปีดเทรน ที่รัฐบาลกำลังเร่งรัด ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก CK ได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยสามารถเข้าร่วมประมูลทั้งในส่วนงานโยธาและงานจัดหาระบบรถไฟฟ้า และหากเป็นงานให้บริการเดินรถบริษัทอาจร่วมกับ BMCL ซึ่งมีความพร้อมและประสบการณ์ด้านนี้เข้าร่วมประมูลได้

นอกจากนี้ บริษัทมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเข้าร่วมประมูลงานต่างๆ โดยในประเทศจะเน้นที่งานก่อสร้างและลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท เช่น มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช รถไฟฟ้าสายต่างๆ รถไฟรางคู่ ทางด่วน โรงไฟฟ้า ส่วนนอกประเทศที่สำคัญ คือ งานลงทุนและก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ใน สปป.ลาว และพม่า เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า

รถไฟฟ้ากรุงเทพทางสะดวก

“ชัยวัฒน์” กล่าวว่า หุ้น BMCL หลังการเพิ่มทุนมองว่าจะเป็นหุ้นที่เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะกลาง-ยาว เพราะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ถือเป็นแนวทางการลงทุนที่ดี ดังจะเห็นได้ว่า หุ้น BMCL เป็นที่สนใจของผู้ลงทุนรายย่อย เพราะเมื่อสิ้นปี 2555 มีจำนวนผู้ถือหุ้น 6,800 คน เมื่อกลางปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นคน และขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หมื่นคนแล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานของ BMCL มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทเพิ่มทุน โดยคาดว่ากำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (อีบิตดา) ของบริษัทในปีนี้น่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ระดับกว่า 500 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายปีละ 200 ล้านบาท และน่าจะสามารถหยุดขาดทุนจากการดำเนินงานได้ในกลางปี 2559

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะใช้เงิน 180 ล้านบาท ลงทุนปรับพื้นที่โฆษณาให้เป็นโฆษณาด้วยทีวีดิจิตอล จำนวน 122 จุด จาก 18 สถานี คาดว่าจะทำให้รายได้จากโฆษณาเพิ่มจาก 170-180 ล้านบาทต่อปี เป็น 300 ล้านบาท ในปีหน้า

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสายสีม่วงในด้านงานโครงสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 70% เชื่อว่าจะก่อสร้างได้เสร็จภายในปี 2559 และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะสามารถเดินรถได้ในช่วงกลางปี 2559 ขณะนี้เตรียมสั่งซื้อขบวนรถอีก 6 ขบวน มูลค่า 1,400 ล้านบาท

ขณะที่แผนการเพิ่มทุนของ BMCL จะทำให้มีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 8,550 หุ้น หรือ 72% โดยเงินเพิ่มทุนจะนำไปใช้ในการชำระคืนหนี้สินทางการเงินและใช้ดำเนินงานทั่วไป (จัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มเติม) และการให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมจะช่วยแก้ปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือน้อยและใกล้ติดลบ

ณ สิ้นไตรมาส 2 BMCL มีส่วนทุน 462 ล้านบาท ส่วนการเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้เป็นทุนแม้จะทำให้ราคาหุ้นลดลง 41.7%.ในปีนี้ แต่เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด เพราะบริษัทยังขาดทุนต่อเนื่องจากภาระดอกเบี้ยที่สูงถึง 1,100 ล้านบาทต่อปี จากหนี้เงินกู้ 1.6 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันมีกำไรจากการดำเนินงานปกติแล้วจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแปลงหนี้เป็นทุนและเจ้าหนี้จะลดหนี้สินได้กว่า 6,500 ล้านบาท จะทำให้ ดี/อี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 18 เท่า ปี 2555 เหลือ 2.2 เท่าปีนี้ และ1.1 เท่า ปี 2557 ดอกเบี้นจะลดลง 300 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป (เงินเพิ่มทุนของ CK จะลดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่าย ขณะที่ธนาคารเจ้าหนี้จะลดเฉพาะดอกเบี้ยค้างจ่ายและค่าธรรมเนียมค้างจ่ายอื่น แต่ไม่ได้นำไปลดเงินต้น)

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส คาดว่าทิศทางผลการดำเนินงานปี 2557 ของ BMCL ปี 2557 ดีขึ้น โดยคาดว่าจะขาดทุนลดลงจากประมาณการเดิม 50% เหลือ 334 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเริ่มจ่ายส่วนแบ่งรายได้เพิ่มให้ รฟม.ปีละ 1,000 ล้านบาท จะเป็นปีที่กดดันผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป จากเดิมจ่ายเฉพาะส่วนแบ่งที่แปรผันตามรายได้ค่าโดยสาร 1% เฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะมีการเจรจาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะสัญญาดังกล่าวตกลงบนความคาดหมายว่าในปี 2558 BMCL จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง แต่ปัจจุบันคาดว่าจะเสร็จปี 2560 ช้ากว่ากำหนด

“แม้จะยังมีผลขาดทุนอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่ปัจจัยพื้นฐานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและแนวโน้มระยะยาวที่คาดหวังได้ภายหลังรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดดำเนินงาน”

การลดหนี้ได้มากกว่าคาด ทำให้นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส เพิ่มมูลค่าพื้นฐานหลังการเพิ่มทุนขึ้นจากเดิม 0.8 บาท เป็น 1.1 บาท อิงวิธีส่วนลดกระแสเงินสด และเพิ่มคำแนะนำจาก “ขาย” เป็น “ถือ”