posttoday

น้ำท่วมฉุดค้าปลีกเล็กน้อย

03 ตุลาคม 2556

โดย...บล.ธนชาติ

โดย...บล.ธนชาติ

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต วิเคราะห์ว่า กลุ่มค้าปลีกมีความยืดหยุ่นมากและได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากน้ำท่วมในปี 2554 เหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวทำให้ร้านค้าปลีก 11% ของจำนวนร้านค้าทั้งประเทศปิดดำเนินการชั่วคราว และศูนย์กระจายสินค้าหลัก (DCs) ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกปิดชั่วคราวทำให้ผลิตภัณฑ์ขาดตลาดและมีปัญหาการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 4 ปี 2554 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี 2554 กำไรเติบโต 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 25% จากไตรมาส 3 ยอดขายต่อสาขาเดิม (SSS) เติบโต 5.3%

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ มีเพียงมินิบิ๊กซีหนึ่งสาขาใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกปิด ด้วย DC ไม่ถูกผลกระทบและการบริโภคพื้นฐานควรฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากน้ำลด ผลกระทบต่อร้านค้าปลีกคาดว่าน้อยมาก เบื้องต้น บล.ธนชาต ประเมินว่ายอดขายจะถูกกระทบ 1-2% ที่สมมติฐาน 8-16% ของจำนวนสาขาทั้งหมดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม (สำหรับผู้ค้าปลีกแต่ละราย) ยอดขายลดลง 50% และส่งผลกระทบ 3 เดือน

บริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากกว่า

“เราคาดว่าบริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่า เนื่องจากน้ำท่วมส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนโดยรวมในไทย”

บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) 7.90 บาท, ไม่มีคำแนะนำ มีที่ดินใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาใน จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเชิงลบต่อ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ราคาที่เหมาะสม 16.30 บาท, ซื้อ เพราะ 137 โรงงานและคลังสินค้า (31% ของพอร์ตรวม) อยู่ในจังหวัดน้ำท่วม, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) ราคาที่เหมาะสม 11.30 บาท, ไม่มีคำแนะนำ มี 91 โรงงาน (37%) และ TLOGIS (ราคาที่เหมาะสม 11.80 บาท, ไม่มีคำแนะนำ) มี 16 คลังสินค้า (25%) ในจังหวัดน้ำท่วม บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ราคาที่เหมาะสม 17.50 บาท, ซื้อ และ

บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) ราคาที่เหมาะสม 3.10 บาท ซื้อ ที่ไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจะได้ประโยชน์จากความต้องการซื้อที่ดินใน จ.ชลบุรี และระยอง จับตาดูอย่างใกล้ชิดแม้ยังไม่เห็นปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรง แต่สถานการณ์อาจบานปลายหากพายุเข้าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจเผชิญระดับน้ำท่วมที่เพิ่มสูงขึ้น แม้เชื่อว่ากรุงเทพฯ จะปลอดภัยเพราะเขื่อนใหญ่ๆ ในภาคกลางและเหนือไม่จำเป็นต้องปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพฯ เพราะพื้นที่กักเก็บน้ำยังไม่เต็ม แต่ไม่ควรมองข้ามความจุที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่เป็นเขื่อนที่สำคัญใน จ.ลพบุรี ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 100%