บริหารคนบนความต่างของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย
คอลัมน์ บริหารคนบนความต่าง
ได้รับเกียรติจากทีมงานของโพสต์ทูเดย์ให้เขียนบทความชิ้นสุดท้ายให้กับโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ที่จะยุติการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
ยอมรับว่า ใจหายมาก เพราะได้เขียนบทความแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองต่อเนื่องยาวนานผ่านทั้งหน้ากระดาษมาจนถึงลงในโลกออนไลน์มากกว่า7ปี
การได้เขียนบทความนี้ส่งท้าย เหมือนเป็นการกล่าวลาเพื่อนเก่าที่ได้อยู่ร่วมกันมานาน
ในเวลานี้หากจะเขียนถึงองค์กรหรือทีมที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดคงไม่พ้นวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยที่เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ต่อจากรุ่นพี่ที่เราคุ้นกับฉายาพวกเธอในนาม “7 เซียน” ผลงานของพวกเธอในสนามที่ 1 และสนามที่2 ของการแข่งขัน FIVB Volleyball Women's Nations League หรือ NVL 2022 ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นในสนาม
คือ หลังแข่งขันจบครบ 8 นัด ทีมลูกยางสาวไทย ชนะ 4 แพ้ 4 มี 12 คะแนน รั้งอันดับ 8 ของตาราง และเข้าสู่สนามที่ 3 เพื่อต่อสู้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย สาวไทยทีมนี้มีความโดดเด่นเป็นขวัญใจแฟนวอลเลย์บอลทั่วโลกด้วยการเล่นที่สนุกสนาน ยิ้มแย้มแจ่มใส สนุกกับทุกนาทีไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ
ทำให้ผมอยากจะถอดรหัสทั้งของทีมวอลเลย์บอลสาวไทยและสมาคมฯว่า ในความแตกต่างหลากหลายของแต่ละคนที่ต่างคนต่างมา ทั้งต่างทีมและต่างสถานที่ อะไรที่ทำให้ทีมนี้และสมาคมฯสามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นต่อเนื่องมาแบบนี้ถอดรหัสด้วย 7Sเครื่องมือในการถอดรหัสทีมหรือองค์กรมีหลายเครื่องมือ
แต่เครื่องมือ การถอดรหัสทีมวอลเลย์บอลสาวไทยที่น่าสนใจอย่างที่สุดน่าจะเป็น 7S ของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ประกอบไปด้วย Strategy (กลยุทธ์) Structure (โครงสร้างองค์กร) System (ระบบ กระบวนการ ทำงาน) Skill (ทักษะความชำนาญ)Staff (การคัดเลือก พัฒนา ดูแลคน) Style (แนวทางการทำงาน การใช้ชีวิตร่วมกันในองค์กร) และ Shared Value (การมีค่านิยมร่วมกัน ไปในทิศทางเดียวกัน)
Strategy : กลยุทธ์ที่วางไว้อย่างต่อเนื่องยาวนานและการทำได้ตามแผนจากการได้ติดตามอ่าน ติดตามการให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย สมาคมฯและบุคคลผู้เกี่ยวข้องไว้วางกลยุทธ์ไว้ก่อนหน้านี้นับสิบปี ตั้งแต่กลยุทธ์การสร้างทีม การพัฒนาองคาพยพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน คือ ทำอย่างไรให้วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยติดอันดับโลกอย่างน้อยอันดับ 16 ของโลกให้ได้
และจากเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมากแต่ชัดเจนในช่วงแรกเริ่ม ทำให้การวางแผน การดำเนินกิจกรรมอื่นๆตามมาล้วนทำไปเพื่อมุ่งไปในทิศทางเดียวคือ “อันดับ 16 ของโลก”
Structure : โครงสร้างที่เกื้อหนุนการสร้างผลลัพธ์จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพทำให้เห็นภาพการวางโครงสร้างงานที่เอื้อต่อการทำงานให้ประสิทธิภาพ โดยจะมีการแบ่งงานเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการบริหาร ด้านการวางแผน ด้านการปฏิบัติการและ ด้านการควบคุม
• ด้านการบริหาร จะเกี่ยวข้องกับการบริหารทั่วไป มีการวางตำแหน่งเป็น นายกสมาคม และอุปนายกด้านฝ่ายต่างๆ 7 ฝ่าย และมีกรรมการบริหาร 6 ท่าน มีกรรมการประธานฝ่ายผู้ตัดสิน และกรรมการประธานผู้ฝึกสอนอย่างละ 1 ท่าน มีเลขาธิการและเหรัญญิก
• ด้านการวางแผนเกี่ยวข้องกับการทำแผนกลยุทธ์ 10 ปี ที่ส่งเสริมและพัฒนาทั้งนักกีฬา บุคลากร สโมสร และประชาชนโดยทั่วไป
• ด้านการปฏิบัติการ เกี่ยวข้องกับการนำระบบการบริหารการจัดการ มีการติดต่อสื่อสารภายในและภายนอกสมาคมที่ชัดเจนและส่งเสริมการทำงานเป็นทีม มีการสร้างแรงจูงใจการยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่นักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬาของสมาคม มีแผนปฏิบติการจัดสรรทรัพยากรที่ชัดเจน
• ด้านการควบคุม เกี่ยวข้องกับการหนดเป้าหมายตามกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง วางแผนการใช้บุคลากรได้ตรงตามความสามารถของบุคลากร ด้วยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการปฏบัติงาน มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของสมาคมฯแล้วนำจุดบกพร่องมาแก้ไขปรับปรุง
โดยผู้บริหารสมาคมฯ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานทุกระดับ รวมถึงความคิดเห็นจากภายนอกด้วยซึ่งการวางโครงสร้างการทำงานรูปแบบนี้ จะครบถ้วนทุกด้านของการบริหารในทุกมิติที่พึงจะมี
System: มีระบบที่ยกระดับการทำงานขยายความจากการถอดรหัสด้าน Structure ข้างต้น โดยเฉพาะทางด้านการปฏิบัติและการควบคุมที่ได้วางระบบ วางกระบวนการที่สำคัญดังนี้ระบบด้านการปฏิบัติการ อย่างเช่น
• มีระบบการพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจน
• มีระบบการสรรหานักกีฬาและพัฒนานักกีฬา ที่วางรากฐานลักษณะดาวกระจายไปทั้งประเทศและทุกช่วงอายุทำให้มีนักกีฬาที่มากศักยภาพพร้อมรอการคัดตัวเป็นนักกีฬาทีมชาติอยู่อย่างต่อเนื่อง
• มีระบบการสร้างแรงจูงใจทั้งนักกีฬา ทั้งบุคลากร
• วางระบบการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
• นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาปรับใช้อย่างจริงจังและเป็นระบบระบบด้านการควบคุม อย่างเช่น
• วางระบบด้านการแปลงกลยุทธ์มาเป็นเป้าหมาย เป็นแผนงาน และการติดตาม อย่างต่อเนื่อง
• วางระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่เปิดโอกาสให้มีการให้ Feedback จากผู้เกี่ยวข้อง และสร้างบรรยากาศที่ผู้บริหารจะนับฟัง Feedback เพิ่อการปรับปรุงนับว่า เป็นระบบที่แม้แต่องค์กรภาคธุรกิจเอกชนยังทำไม่ได้แบบนี้
Skill : ทักษะที่สะสมมารุ่นต่อรุ่นหากใครติดตามการลงสนามของทีมนักตบลูกยางสาวไทย และได้ฟังการสัมภาษณ์ถึงการฝึกซ้อมของโค้ช หัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะของผู้เล่นของเราคือ ผู้ฝึกสอนได้สร้างวิธีการเล่นที่เป็นลักษณะเฉพาะแล้วฝึกทักษะให้สอดคล้อง โดยใช้จุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง
จุดอ่อนเราคือตัวเล็กเมื่อเทียบกับผู้เล่นจากชาติอื่นๆในระดับโลก ดังนั้นจึงใช้ความเร็วมาเป็นจุดแข็ง และพัฒนาให้ผู้เล่นแต่ละตำแหน่งเกิดทักษะที่เสริมวิธีการเล่นที่วางไว้ ที่น่าทึ่ง คือ ทักษะเหล่านั้นได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่าง “ไร้รอยต่อ”
Staff: การคัด การดูแล และพัฒนาจากที่กล่าวถึงไปแล้วในเรื่อง System เกี่ยวกับระบบการคัดเลือกและพัฒนานักกีฬาทีมชาติไทย เป็นระบบการสรรหาและพัฒนาเรียกว่า “ป่าล้อมเมือง” ในแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอจะมีค่ายของกีฬาวอลเลย์บอลลักษณะเป็นโรงเรียน
ส่วนในด้านการพัฒนาหรือฝึกนักกีฬา จะถูกฝึกต้ังแต่ระดับประถมเป็นต้นไปจนกระทั่งมีแมวมองในกรุงเทพฯ พานักกีฬาเข้ามาต่อยอดจากระดับมัธยมมาสู่ระดับมหาวิทยาลัย ส่วนการคัดตัวนักกีฬาเพื่อเข้าสู่การเป็นทีมชาตินั้น จะมีผู้ฝึกสอนไปเป็นแมวมองตามดูการแข่งขันในระดับต่างๆ จนเมื่อได้ตัวแล้วก็จะนำนักกีฬามาเข้าค่ายฝึกซ้อมกันก่อนในระยะเวลาพอสมควร
จากนั้นก็จะคัดตัวอีกครั้งเพื่อไปทำการแข่งขัน ส่วนในเรื่องการพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าด้านทักษะต่างๆ จะได้รับการฝึกฝนหลังจากได้ตัวนักกีฬาตัวจริงแล้ว จะเห็นว่าการคัดคนที่เป็นไปอย่างมีระบบ และเข้าถึงแหล่งทรัพยากรเรื่องคน มีส่วนช่วยอย่างมากในการเติมผู้เล่นให้กับทีมชาติได้อย่างต่อเนื่อง
Style : รูปแบบวิธีการเล่น การแสดงออกที่เป็นลักษณะเฉพาะปฏิเสธไม่ได้ว่า นักตบลูกยางสาวไทยตั้งแต่รุ่น 7 เซียนต่อเนื่องมาถึงยุคปัจจุบันมีเสน่ห์ที่แฟนวอลเลย์บอลกล่าวถึง คือ Style การเล่นของพวกเธอที่ไม่ใช่เพียงรูปแบบการเล่นที่ทำได้ตามแผนที่โค้ชวางเอาไว้ หากแต่เอกลักษณ์เฉพาะบางอย่างที่สร้างความประทับใจ
นั่นคือ ความกระหาย( Passion) ที่อยากจะเล่น อารมณ์ร่วมกับเพื่อร่วมทีมในการเล่นไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ทุกคนจะส่งพลังส่งอารมณ์ร่วมถึงกัน ความสดใส ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีแรงกดดันถาโถมทั้งจากในสนามและจากนอกสนาม
ซึ่ง Style แบบนี้ ทำให้เกิดพลังร่วมที่พาฟันฝ่าอุปสรรคอย่างต่อเนื่องแม้จะเจอวิกฤติอย่างเช่น มีผู้เล่นติดเชื้อโควิทกว่าครึ่งค่อนทีมในการแข่งขัน VNL 2022 ที่สนาม 2 ณ ประเทศฟิลิปปินส์
Shared Value : มีค่านิยมร่วมกันทีมวอลเลย์บอลสาวไทย และสมาคมคือ ตัวอย่างที่ชัดเจนว่า หากทุกคนในองค์กร ในทีมได้มีค่านิยมร่วมกันแล้ว การจะลงมือทำอะไร ก็จะยึดโยงกับค่านิยม ความเชื่อนี้
เมื่อทั้งสมาคมและผู้เล่นมีค่านิยม มีความเชื่อว่า เราจะต้องเป็นเลิศติดอันดับโลกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 16 การดำเนินการอีก 6S ไม่ว่าจะเป็น Strategy (กลยุทธ์) Structure (โครงสร้างองค์กร) System (ระบบ กระบวนการ ทำงาน) Skill (ทักษะความชำนาญ)Staff (การคัดเลือก พัฒนา ดูแลคน) Style (แนวทางการทำงาน การใช้ชีวิตร่วมกันในองค์กร) ก็จะพุ่งไปในทิศทางเดียวกันอย่างแน่วแน่และมีพลัง
ไม่น่าแปลกใจเลยว่า การที่ทีมวอลเลย์บอลสาวทีมชาติไทยและสมาคมฯประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็มาจากการสร้างเกิดความเข้มแข็งและยกระดับมาตรฐานให้กับ 7S ทั้งในทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยและทั้งในสมาคมฯนั่นเอง