posttoday

Perfect Storm Economic....มรสุมวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่สุดกำลังตั้งเค้า

13 มิถุนายน 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

หลังจากทั่วโลกรวมทั้งไทยสู้รบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกลายพันธุ์หลายเวอร์ชั่นต่อเนื่องมา 2 ปีเศษ มีสัญญาณว่า “โรคห่า” แห่งศตวรรษที่ 21 กำลังใกล้จบ จากที่เคยเป็นวิกฤตของโลกมีผู้คนเสียชีวิตมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2  ขณะนี้ประเทศต่างๆ ทยอยเปิดประเทศบางประเทศประกาศไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยทำให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แม้แต่ประเทศจีนภายใต้ “Covid Zero” ล่าสุดยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เมืองใหญ่ๆ และกำลังยกเลิกห้ามประชาชนออกนอกประเทศ ประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบจัดแคมเปญโปรโมทท่องเที่ยวแบบลด-แลก-แจก-แถม

องค์กรท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 1.82 เท่า มาตรการประเทศต่างๆ ผ่อนคลายหรือยกเลิกข้อจำกัดจะมีผลทำให้ครึ่งปีหลังการท่องเที่ยวจะค่อยๆ ฟื้นตัว ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดมากที่สุดในอาเซียนเพราะเป็นประเทศท่องเที่ยว TOP 5 ระดับโลก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนและรายได้ท่องเที่ยวรวมกันมากกว่า 3.10 ล้านล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นและไม่เคร่งครัดการสวมหน้ากากอนามัยเป็นสัญญาณว่า “โควิด-19 กำลังจะจบ”

กล่าวได้ว่าความเสียหายจากวิกฤตโควิดของไทยสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรง  ก่อนโควิดระบาดย้อนหลัง 5 ปี เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3  ขณะที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนช่วงนั้นขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6-7 ปีพ.ศ.2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่เจอวิกฤตจากโควิดเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 6.1 มูลค่าปีแรกหายไปถึง 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้ว (พ.ศ.2564) เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.6 และปีนี้หลังจากปรับลดล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ประเมินว่าเศรษฐกิจอาจขยายไม่เกินร้อยละ 3.3 ทำให้การฟื้นตัวยังไม่เหมือนเดิม ค่าเฉลี่ยของอาเซียนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.72 และค่าเฉลี่ยของโลก (IMF) หลังจากปรับลดล่าสุดอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6  การที่เศรษฐกิจของไทยอ่อนแอกว่าหลายประเทศทำให้กลายเป็นผู้ป่วยของอาเซียน

เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมามีเพียงภาคส่งออก ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะไม่ค่อยดีแต่การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาสูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 13.7 ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 7.9  ขณะเดียวกันการนำเข้ากลับขยายตัวในอัตราที่มากกว่าทำให้มูลค่าแซงหน้าในสัดส่วน 1 : 1.03  สัญญาณเศรษฐกิจทื่ฟื้นตัวทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติทำให้มีความหวังว่าภาคท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญก่อนโควิดมีสัดส่วนอยู่ใน GDP ประมาณ ร้อยละ 19.53  ช่วงมกราคมถึงพฤษภาคมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 1.306 ล้านคน มีการตั้งเป้าแบบท้าทายปีนี้ไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านคนหรือเท่ากับ 1 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้ามาในช่วงปกติ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท และปีหน้าคาดว่าท่องเที่ยวในประเทศจะกลับมาเหมือนเดิมประเมินว่ารายได้ท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติจะมีมูลค่าประมาณ 2.4 ล้านล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 80 ของรายได้ก่อนโควิด การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งอุ้มแรงงานจำนวนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนคงไม่ฟื้นตัวให้เห็นในเร็วๆ นี้ ขณะที่ท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาโรงแรม-สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเต็มและสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิคนแน่นจนล้น อย่างไรก็ดีจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดและเงินเฟ้อสูงช่วงครึ่งปีหลังอาจแผ่ว  

บทความนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าถึงแม้วิกฤตจากโควิดกำลังใกล้จะจบแต่เริ่มเห็นสัญญาณวิกฤตใหม่ “Perfect Storm Economic” กำลังก่อตัวเป็นมรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่รุนแรงมากสุดในรอบ 8 ทศวรรษ วิกฤตรอบใหม่จะประกอบด้วยหลายวิกฤตที่เข้ามาประดังทับซ้อนในเวลาเดียวกันเริ่มจากเงินเฟ้อกำลังกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกเป็นผลต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้เกิด “Supply Chain Disruption” ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม-อาหารคนและอาหารปศุสัตว์ อีกทั้งผลของสงครามทำให้ปริมาณน้ำมันดิบและพลังงานจากประเทศคู่สงครามหายไปทำให้เกิดวิกฤตพลังงานรุนแรงมากสุดในรอบหลายทศวรรษ ณ ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงทะลุบาร์เรลละ 122.5 เหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันในประเทศหน้าปั้มทั้งเบนซินและดีเซลราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงทำให้ไทยและประเทศต่างๆ กำลังเผชิญอยู่คือเงินเฟ้อที่สูงสุดในทศวรรษ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 7.1 ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยเฉพาะอาหารและธัญพืชราคาสูงไปถึงขาดแคลนทั่วโลกกลายเป็นวิกฤต “Global Food Crisis” หลายประเทศงดการส่งออกสินค้าประเภทอาหารและวัตถุดิบทางการเกษตร พายุเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัวอาจมีผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ผู้นำองค์กรระดับโลก เช่น “IMF” รวมถึงนักการเงินและนักวิชาการชั้นนำของไทยออกมาเตือนว่าสถานการณ์วิกฤตที่ทับซ้อนอาจทำให้โลกเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย “Global Recession” ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อระดับโลกครั้งประวัติศาสตร์ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศทั้งสหรัฐ อังกฤษ อียู มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สำหรับไทยล่าสุด “กนง.” ยังคงดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 แต่มีแนวโน้มว่าจะทยอยปรับขึ้นในการประชุมครั้งต่อไป ประเด็นที่เป็นปัญหาระดับโลกขณะนี้คือการเร่งปรับดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ ให้ไล่ทันดอกเบี้ยของสหรัฐที่สูงกว่าหลายประเทศ ผลที่ตามมาคือ “Capital   Outflows” หรือเงินทุนมีการไหลออกจากตลาดหุ้น-พันธบัตรรวมถึงตลาดโภคภัณฑ์และตลาดคริปโตฯ ซึ่งล้วนเป็นตลาดเก็งกำไร ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยมีการผันผวนไปในทางอ่อนค่า

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกมีผลต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากเพราะพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงมากทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ ท่องเที่ยว ภาคบริการ ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคค้าปลีกและก่อสร้างรวมไปถึงธุรกิจรายย่อยตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ การฟื้นตัวของเอกชนส่วนใหญ่แลกมาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้หรือการเป็นหนี้ที่สูงขึ้นทำให้มีความเปราะบางต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการที่ภาคท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นตัวมีผลต่อหลายธุรกิจโดยเฉพาะโรงแรม มีการทะยอยออกจากโครงการพักทรัพย์-พักหนี้ของสถาบันการเงินกว่า 300 รายวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาวงเงินโครงการพักทรัพย์-พักหนี้ลดจากหนึ่งแสนล้านบาทเหลือ 5.5 หมื่นล้านบาท ตรงนี้เป็นสัญญาณที่ดี

การก่อตัวพายุเศรษฐกิจลูกใหม่ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนรวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ไปโยงกับความมั่นคงของยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อีกทั้งประเด็นการสะดุดของซัพพลายเชนระดับโลกมีผลทำให้ระบบการผลิตในโซ่อุปทานระดับนานาชาติมีการสะดุดนอกจากสินค้าราคาสูงขึ้นที่มากไปกว่านั้นคือขาดแคลน กรณีของไทยเห็นได้ชัดเจนคือการนำเข้าธัญพืชที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารสัตว์จากประเทศรัสเซียและยูเครนที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของโลกมีราคาสูงมีผลกระทบไปตลอดโซ่อุปทานทำให้เนื้อสัตว์ต่างๆ ราคาสูงและทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง อาหารถุงตามหาบเร่-แผงลอยต้องปรับราคา

ภาพสะท้อนเศรษฐกิจโลกที่เริ่มออกอาการชะลอตัวเห็นได้จากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลด GDP โลกจากร้อยละ 4.4 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6  ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่รองจากสหรัฐปรับลดจากร้อยละ 5.5 เหลือร้อยละ 4.4  ของไทยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับเป้าเศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.5  จากที่ขยายตัวไตรมาสแรกร้อยละ 2.2 และมีการปรับเป้าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญลงทุกรายการโดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของประชาชน

ปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดคืออัตราเงินเฟ้อของไทยที่คาดว่าปีนี้จะไปถึงร้อยละ 6.2 เป็นอัตราสูงสุดเท่าที่เคยมี นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่าล่าสุดอยู่ที่ 34.9 บาท/เหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วบาทอ่อนค่า 3.115 บาทในช่วง 12 เดือนอ่อนค่าร้อยละ 9.8 ทำให้ราคาสินค้านำเข้าทั้งน้ำมัน-สินค้าอุปโภค-บริโภค-วัตถุดิบที่แพงจากเงินเฟ้อยังต้องบวกกับบาทที่อ่อนค่า ที่ชัดเจนคือราคาข้าวของแพงไปหมดเห็นได้จากเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสูงถึงร้อยละ 7.1 ทำลายสถิติเป็นประวัติการณ์

การส่อเค้าของวิกฤตเศรษฐกิจโลกระลอกใหม่ที่อาจรุนแรงมากสุดในรอบหลายทศวรรษเป็นความ  ท้าทายของประเทศ ความเสี่ยงคือเสถียรภาพของรัฐบาลที่สาละวนไปกับการรักษาเก้าอี้และอำนาจในอยู่ในนานสุด ขาดมืออาชีพด้านเศรษฐกิจระดับโลก หัวหน้าทีมเศรษฐกิจมาจากทหารที่เน้นด้านความมั่นคงขณะที่รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงหลักของประเทศมาจากอดีตข้าราชการที่เป็นแทคโนเครตทำงานเหมือนข้าราชการประจำรัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากนักการเมืองอาชีพเน้นแต่เล่นการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ การก้าวเดินของประเทศท่ามกลางวิกฤตแทรกซ้อนวิกฤตจะไปทางไหน.....ไม่รู้ครับ